ข้างบ้านชอบเสียงดัง ป้องกันบ้านอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ
รอบรู้เรื่องบ้าน

ข้างบ้านชอบเสียงดัง ป้องกันบ้านอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ

22.9K

6 พฤษภาคม 2567

ข้างบ้านชอบเสียงดัง ป้องกันบ้านอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ

        ความสงบเงียบ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดความสุขทั้งทางกายและทางจิตใจ ซึ่งเราสามารถหาความสงบสุขนี้ได้จากพื้นที่ส่วนตัวนั่นคือ “บ้าน” แต่ในบางกรณีก็อาจเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะในบ้านทาวน์โฮม ทาวน์เฮาส์ หรือคอนโดมิเนียมที่ต้องใช้ผนังร่วมกันกับบ้านหลังอื่น

        หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบความเงียบสงบ กำลังเจอปัญหาเสียงรบกวนจากภายนอก หรือเป็นคนที่ชอบความบันเทิงสนุกสนาน ชอบเปิดเพลงเสียงดัง ชอบร้องคาราโอเกะ แต่ไม่สามารถสร้างความบันเทิงในบ้านได้เพราะกังวลถึงความไม่สงบของเพื่อนบ้าน เนื้อหานี้มีแนวทางป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกและป้องกันเสียงจากภายในบ้านมาฝากครับ


1. อุดช่องโหว่รอบบ้าน

        เสียงรบกวนสามารถเข้ามาในตัวบ้านได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะทะลุผนัง ประตู หน้าต่าง หรือ เล็ดลอดเข้ามาตามรอยรั่วต่าง ๆ รอบบ้าน หากสำรวจผนังแล้วไม่พบจุดร้าวรั่ว เมื่อปิดประตูหน้าต่างแล้วยังพบว่ามีเสียงสิ่งแวดล้อมภายนอกเข้ามาชัดเจน ลองสำรวจประตูหน้าต่างว่ามีช่องว่างระหว่างวงกบกับประตูหน้าต่างหรือไม่ ถ้ามีควรปิดช่องโหว่ให้เรียบร้อย โดยการใช้ซิลิโคนอุดระหว่างวงกบกับบาน หรือใช้ซีลยางปิดช่องว่างประตู เปลี่ยนหน้าต่างเป็นรุ่นที่มีรอยต่อน้อยและปิดสนิท เช่น หน้าต่างกรอบไวนิล, กรอบอลูมิเนียมแบบบานเปิด (กระทุ้งข้าง) พยายามหลีกเลี่ยงแบบบานเลื่อนสลับและบานเกล็ดเพราะไม่สามารถป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้


2. วอลเปเปอร์แบบหนาช่วยดูดซับเสียง

        วอลเปเปอร์ (Wallpaper) นอกจากจะเป็นวัสดุปิดผนังที่ช่วยปกปิดพื้นผิวที่มีร่องรอยให้เรียบร้อยสวยงามแล้ว บางรุ่นยังมีคุณสมบัติช่วยซับเสียงด้วย ทั้งดูดซับเสียงทั้งเสียงจากบ้านเราออกไปข้างนอก หรือเสียงจากบ้านข้าง ๆ เข้ามาในบ้านเรา อาทิ วอลล์เปเปอร์แบบหนาชนิด PE Foam, วอลล์เปเปอร์แบบมีมิติ 3D หนา 10 mm. เป็นต้น สำหรับความสามารถในการช่วยดูดซับเสียง จะทำได้ในระดับต่างกันตั้งแต่ 45% - 85% ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุและความหนาของวอลล์เปเปอร์ครับ


3. พื้นพรมช่วยดูดซับเสียง

        เคยสังเกตโรงภาพยนตร์กันไหมครับ สถานที่เหล่านี้นิยมปูพื้นด้วยพรม สาเหตุหลักไม่ได้เพื่อสร้างความสวยงามหรือสร้างความหรูหราเท่านั้น แต่พื้นพรมยังมีคุณสมบัติเด่นด้านการดูดซับเสียง หากคุณต้องการสร้างห้องเพื่อรองรับความบันเทิงภายในบ้าน ห้องดูหนัง ห้องคาราโอเกะ พื้นพรมจะช่วยดูดซับเสียง ลดเสียงสะท้อนกึกก้องได้เป็นอย่างดี


4. กันเสียงด้วยผ้าม่านและตู้เก็บเสื้อผ้า

        ทราบหรือไม่ว่าของใช้ประจำบ้านอย่างผ้าม่านก็สามารถเป็นกำลังหลักในการดูดซับเสียงได้ วิธีการนี้จะเหมาะอย่างยิ่งกับห้องนอนที่อยู่ติดถนนใหญ่ เพราะห้องตำแหน่งนี้มักได้รับผลกระทบมลพิษทางเสียงโดยตรงจากรถยนต์ที่สันจรผ่านไป ผ่านมา โดยการเลือกผ้าม่านให้เลือกชนิดหนา ๆ ซึ่งจะช่วยลดทอนคลื่นเสียงได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีการทอผ้าที่ช่วยให้ผ้าม่านมีน้ำหนักเบาแต่สามารถดูดซับเสียงได้มากขึ้นหลายเท่าตัว

        นอกจากผ้าม่านแล้ว วัสดุต่าง ๆ ที่ทำด้วยผ้ายังมีคุณสมบัติช่วยดูดซับเสียงได้ดี สำหรับใครที่อยู่อาศัยบ้านทาวน์เฮ้าส์ที่มีผนังติดกันและมีปัญหาเสียงรบกวน ลองเปลี่ยนย้ายตำแหน่งตู้เสื้อผ้าหรือออกแบบตู้ Built-in ให้ชิดผนังด้านที่มีปัญหา เสื้อผ้าที่แขวนอยู่และตู้เสื้อผ้า จะทำหน้าที่เสมือนฉนวนกันเสียง ช่วยลดเสียงรบกวนได้ดีระดับหนึ่งเลยครับ

ภาพ : วัสดุอะคูสติก เอสซีจี ป้องกันเสียง Cylence รุ่น Zoundblock

5. ติดแผ่นวัสดุอะคูสติกดูดซับและกันเสียง

        ทั้ง 4 ข้อที่ผ่านมาเป็นวิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการเลือกวัสดุตกแต่งบ้านให้ช่วยดูดซับและกันเสียง รวมทั้งการอุดช่องโหว่ต่าง ๆ ที่อาจเป็นต้นเหตุให้เสียงเล็ดลอดเข้ามาได้ แต่สำหรับบ้านที่เน้นความสงบเงียบเป็นพิเศษ อย่าง Home Office ที่ต้องใช้สมาธิในการทำงาน การเผชิญเสียงดังรบกวนย่อมทำให้งานถูกลดประสิทธิภาพลง หรือในบ้านที่มีห้องโฮมเธียเตอร์ ห้องคาราโอเกะที่กระจายเสียงได้มาก จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการทำ 2 กระบวนการควบคู่กัน คือ ดูดซับและป้องกันเสียง ด้วยวัสดุเฉพาะที่เราเรียกว่า แผ่นวัสดุอะคูสติก เพื่อป้องกันเสียงดังและลดเสียงสะท้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การติดตั้งแผ่นวัสดุ Cylence รุ่น Zoundblock ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันเสียงโดยเฉพาะ ช่วยลดการส่งผ่านของเสียงระหว่างห้อง โดยติดตั้งตรงช่องว่างของโครงคร่าวระหว่างผนัง 2 ชั้น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดเสียงก้อง เสียงสะท้อน ควรติดตั้งควบคู่กับ Cylence รุ่น Zandera ซึ่งเป็นแผ่นบุสำเร็จรูปมีคุณสมบัติดูดซับเสียง  มีหลากหลายสีสัน น้ำหนักเบาและติดตั้งไม่ยาก ช่วยกันเสียงจากผนังได้มากขึ้น 6 – 10 เดซิเบล ทั้งยังช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับผนังห้องได้เป็นอย่างดีด้วยครับ


ภาพ : วัสดุอะคูสติก เอสซีจี ดูดซับเสียง Cylence รุ่น Zandera

วัสดุแต่ละชนิดมีความสามารถดูดซับเสียง ลดเสียงสะท้อนหรือกันเสียงได้ในระดับที่แตกต่างกันไป  บางชนิดทำได้เพียงดูดซับเสียงแต่ไม่ได้ป้องกัน ก่อนตัดสินใจเลือกใช้วัสดุใด ๆ จึงควรศึกษาทำความเข้าใจคุณสมบัติของวัสดุนั้น ๆ เสียก่อน และเลือกชนิดที่เหมาะสมกับความรุนแรงของสถานการณ์ เพื่อช่วยลดปัญหาเรื่องเสียงรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพสุงสุดครับ

สนใจบริการออกแบบและติดตั้งห้องกันเสียงเอสซีจี
ขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญฟรีได้ที่ SCG Home Solution และ SCG Experience
หรือ โทร. 02-586-2222





แท็กที่เกี่ยวข้อง