ความแตกต่างระหว่าง Active AIRflow™ System กับ ลูกฟักทองระบายอากาศ
รอบรู้เรื่องบ้าน

ความแตกต่างระหว่าง Active AIRflow™ System กับ ลูกฟักทองระบายอากาศ

7.8K

20 พฤษภาคม 2567

ความแตกต่างระหว่าง Active AIRflow™ System กับ ลูกฟักทองระบายอากาศ

"Active AIRflow™ System เป็นนวัตกรรมการถ่ายเทอากาศและระบายความร้อนออกจากตัวบ้านด้วยวิธีการออกแบบคิดคำนวณทั้งระบบโดยมีการทำงานแบบอัตโนมัติ ส่วนลูกฟักทองระบายอากาศจะแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ การระบายความร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ และการระบายความร้อนโดยอาศัยไฟฟ้าและมอเตอร์ขับเคลื่อน"

       การระบายอากาศภายในบ้านเป็นเรื่องสำคัญไม้แพ้การป้องกันความร้อนเข้าสู่ภายในบ้าน เพราะช่วยให้อากาศสามารถไหลเวียนระบายถ่ายเทได้สะดวก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกันความร้อนและช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศลง แต่การจะเลือกตัวช่วยในการระบายอากาศ ระหว่างการเลือกใช้ระบบ Active AIRflow™ System ของเอสซีจี กับ การเลือกลูกฟักทองระบายอากาศนั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

Active AIRflow™ System เป็นนวัตกรรมการถ่ายเทอากาศและการระบายความร้อนด้วยการดึงความร้อนจากตัวบ้านขึ้นสู่โถงหลังคา และระบายออกทางปล่องด้านบนหลังคา โดยมีอุปกรณ์ “Fresh Intake Air Grille” เป็นช่องให้อากาศจากภายนอกบ้านเข้ามาภายในบ้าน แล้ว “Ceiling Ventilator” พัดลมของชุดระบายอากาศฝ้าเพดานจะดูดอากาศภายในบ้านไปยังโถงหลังคา จากนั้น “Solar Roof Tile Ventilator” จะดึงอากาศร้อนจากโถงหลังคาออกไปภายนอกบ้าน โดยระบบจะทำงานอัตโนมัติด้วยการควบคุมของ Smart Control Box (และแสดงผลผ่าน Smart Mobile Application เมื่อสภาวะอากาศภายในบ้านถึงจุดที่กำหนดไว้ สำหรับช่วงเย็น เมื่อไม่มีแสงอาทิตย์แล้วระบบจะยังคงทำงานต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการระบายอากาศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และระบบจะหยุดทำงานเมื่อสภาวะอากาศภายในบ้านอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยมีการคำนวณจุดติดตั้งให้สัมพันธ์กับขนาดพื้นที่ของบ้าน เพื่อให้เราสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้อย่างสบายมากขึ้น

ภาพ: อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับ Active AIRflow™ System เพื่อเร่งให้เกิดการถ่ายเทอากาศและระบายความร้อนออกจากตัวบ้านและโถงหลังคา

สำหรับลูกฟักทองระบายอากาศ (หรือ ลูกหมุนระบายอากาศ) เป็นอุปกรณ์ที่มีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดการระบายความร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ ส่วนใหญ่นิยมติดตั้งบนหลังคาของโรงงานขนาดใหญ่ ปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ลูกหมุนระบายอากาศที่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าแต่อาศัยแรงลมเป็นตัวขับเคลื่อน จะทำงานเมื่อมีลมพัดผ่านบนหลังคา หรืออากาศร้อนใต้หลังคาลอยตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดการหมุนของลูกหมุน และแรงหมุนดังกล่าวจะดูดอากาศใต้หลังคาออกไป โดยที่อัตราดูดอากาศขึ้นอยู่กับความเร็วของการหมุนและขนาดของตัวลูกหมุนเอง อีกประเภทคือลูกหมุนระบายอากาศที่ใช้ไฟฟ้าและมอเตอร์ขับเคลื่อน จะเป็นลักษณะการติดพัดลมดูดอากาศบนหลังคาเพื่อดูดเอาอากาศภายในอาคารออก และสามารถควบคุมการดูดอากาศออกได้คงที่ตามความต้องการ แต่มีสิ่งที่ควรคำนึงคือ ต้องมีช่องให้อากาศสามารถไหลเข้ามาภายในอาคารและโถงหลังคาได้ สำหรับโรงงานที่ส่วนใหญ่จะมีช่องเปิดที่เปิดไว้ตลอดเวลาและเป็นพื้นที่เปิดโล่งตั้งแต่พื้นจรดหลังคาก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีฝ้าเพดาน บางบ้านก็ต้องปิดประตูหน้าต่างไว้ทั้งวันอาจจะไม่เหมาะสักเท่าไรนัก เว้นแต่ว่าจะมีช่องเตรียมไว้สำหรับให้อากาศไหลเข้ามาภายในบ้านและบริเวณเหนือฝ้าเพดานได้ในปริมาณที่เหมาะสมและสัมพันธ์กันก็จะสามารถดันอากาศร้อนออกไปได้

ภาพ: ลูกฟักทองระบายอากาศจะนิยมติดตั้งกับอาคารหรือโรงงานขนาดใหญ่
ขอขอบคุณภาพ: www.pixabay.com

ภาพ: ลูกฟักทองหรือลูกหมุนระบายอากาศที่ติดตั้งกับบ้านพักอาศัย

ภาพ: รอยคราบน้ำที่เกิดจากน้ำฝนบนฝ้าตำแหน่งที่ติดตั้งลูกหมุนระบายอากาศ

ภาพ: รอยคราบน้ำฝนที่ไหลย้อนเข้าไปที่ฝ้าภายในบ้าน

       สรุปคือ Active AIRflow™ System จะเป็นการเร่งกระบวนการทางธรรมชาติให้เกิดการระบายอากาศด้วยวิธีการออกแบบคิดคำนวณทั้งระบบให้เหมาะสมกับขนาดของแต่ละที่อยู่อาศัย และมีการทำงานแบบอัตโนมัติ โดยมีทั้งช่องสำหรับให้อากาศจากภายนอกไหลเข้ามาภายในบ้านและอุปกรณ์ที่ช่วยดึงเอาอากาศร้อนออกไป เพื่อสร้างคุณภาพอากาศที่ดีและสภาวะสบายในการอยู่อาศัย ส่วนลูกฟักทองระบายอากาศหากเป็นประเภทที่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นการพึ่งพากลไกทางธรรมชาติ โดยรอให้อากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้นมาสะสมอยู่ใต้หลังคาที่มากพอหรือเมื่อมีลมพัดผ่านบนหลังคาจะสามารถดึงอากาศร้อนออกไปได้ ส่วนประเภทที่ใช้ไฟฟ้าจะต้องควบคุมการปิดเปิดไฟฟ้าเองให้มอเตอร์ทำงาน เพื่อช่วยเร่งให้เกิดการดูดเอาอากาศร้อนที่ลอยอยู่ใต้โถงหลังคาออกไปได้ แต่การเลือกใช้ลูกฟักทองทั้งสองประเภทจะต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องช่องลมและอุปกรณ์อื่นๆ ให้อากาศสามารถไหลเข้ามาในปริมาณที่สัมพันธ์กับอากาศที่จะถูกดึงออกไป ซึ่งแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญถึงขนาดที่เหมาะสม ตำแหน่งที่จะติดตั้ง และคำนวณจำนวนที่ต้องใช้ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

       อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเลือกตัวช่วยในการระบายอากาศแล้ว เรายังสามารถเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ช่วยลดความร้อนก่อนที่จะผ่านเข้ามาภายในบ้านได้ ตั้งแต่วัสดุมุงหลังคา วัสดุผนัง หรือการติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อนและช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศด้วยเช่นกัน

       ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง:
www.bp-products.com

       ครรชิต เหลียงไพบูลย์ (จาก Material Supply International Co., Ltd.). หลักการระบายความร้อน ของ Roof Ventilator. วารสารประสิทธิภาพพลังงานฉบับที่ 53

แท็กที่เกี่ยวข้อง