ทำห้องสตูดิโอในบ้านให้กันเสียงได้ แบบฉบับ Youtuber มืออาชีพ
รอบรู้เรื่องบ้าน

ทำห้องสตูดิโอในบ้านให้กันเสียงได้ แบบฉบับ Youtuber มืออาชีพ

12.3K

14 พฤษภาคม 2567

ทำห้องสตูดิโอในบ้านให้กันเสียงได้ แบบฉบับ Youtuber มืออาชีพ

        สถิติผู้ใช้งาน Youtube จากทั่วโลกปัจจุบัน มีประมาณ 2,000 ล้านคน/เดือน และด้วยความนิยมในการรับชมสื่อวิดีโออย่างแพร่หลายจึงก่อให้เกิดอาชีพใหม่นั่นคือ Youtuber หรือ Vlogger ซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อหาผ่านสื่อวิดีโอให้เกิดความน่าสนใจ เพื่อดึงผู้ชมมาติดตามมาสนับสนุนช่องมากยิ่งขึ้น

        Youtuber ส่วนใหญ่มากกว่า 50% สร้าง content ภายในบ้านตนเอง และมือใหม่ทุกคนล้วนต้องพบสารพัดปัญหา ทั้งความพร้อมของอุปกรณ์ในการถ่ายทำและสถานที่ที่ปราศจากเสียงรบกวน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ย่อมส่งผลกับการทำงานและส่งผลต่อประสิทธิภาพของคุณภาพเสียงทำให้เสียเวลาในการทำงานมากขึ้น เนื้อหานี้ เอสซีจีจึงแนะนำแนวทางการปรับห้องธรรมดาให้กลายเป็นห้องสตูดิโอของ Youtuber มืออาชีพ ที่ป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกเข้ามาข้างใน และป้องกันเสียงไม่ให้ไปรบกวนผู้อื่นด้วยครับ

1.ลดเสียงรบกวนเริ่มต้นจากผนัง 

        สำหรับผนังก่ออิฐฉาบปูนทาสีทั่วไป ยังไม่มีคุณสมบัติในการดูดซับเสียงหรือลดเสียงสะท้อนครับ เนื่องจาก “เสียง” เป็นคลื่นที่จะสะท้อน (Reflection) เมื่อเจอวัสดุผิวเรียบแข็ง เพื่อลดเสียงรบกวนแบบมืออาชีพ จำเป็นต้องติดตั้งผนังด้วยวัสดุที่ช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอก และช่วยกันเสียงสะท้อนจากภายในได้ ซึ่งวัสดุอะคูสติก Cylence  มีคุณสมบัติดังที่กล่าวมา โดยมีด้วยกันสองรุ่น คือ Cylence รุ่น Zoundblock และ Cylence รุ่น Zandera  ทั้งสองวัสดุนี้ช่วยในเรื่องของเสียง แต่ต่างตรงหน้าที่และลักษณะการติดตั้ง

ผนังกันเสียง Cylence รุ่น Zoundblock

        เป็นแผ่นอะคูสติกบุผนังกันเสียง (Sound Isolation) ออกแบบมาให้มีคุณสมบัติ ลดการส่งผ่านของเสียงระหว่างห้องโดยเฉพาะ ใช้สำหรับติดตั้งภายในช่องว่างระหว่างผนัง 2 ชั้น อาจจะอยู่ด้านในระหว่างผนังสมาร์ทบอร์ด ผนังยิปซัม ผนังอิฐมอญหรืออิฐมวลเบา จะช่วยเพิ่มค่าระดับการส่งผ่านของเสียง หรือ Sound Transmission Class (STC) (ยิ่งมีค่ามากแสดงว่ากันเสียงได้มาก) ให้กับผนังแต่ละประเภท ทำให้ผนังสามารถป้องกันเสียงของระบบผนัง 2 ชั้นได้มากขึ้นถึง 6-10 DB. แต่ละแผ่นหุ้มรอบด้านด้วยวัสดุกันความชื้น จึงป้องกันความชื้นหลังจากปิดผนังได้ดีเยี่ยม เนื้อฉนวนไม่อุ้มน้ำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกั้นเสียงให้ผนังได้อย่างมั่นใจ

วัสดุอะคูสติก Cylence รุ่น Zandera

        วัสดุดูดซับเสียง (Sound Absorbtion) จากเอสซีจี เป็นแผ่นบุผนังสำเร็จรูปที่มีคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับเสียง ลดเสียงก้องและเสียงสะท้อนที่ดี ผลิตจากแผ่นกลาสวูล (Glass Wool) ที่มีความหนาแน่นสูง ปิดผิวด้านหน้าและด้านหลังด้วยแผ่นกลาสแมท เคลือบขอบรอบด้านด้วยสารอะครีลิคลาเท็กซ์ หุ้มด้วยแผ่นผ้าชนิดพิเศษเคลือบสารไม่ลามไฟ มีสีสันสวยงาม ติดตั้งง่าย และน้ำหนักเบา นำมาดีไซน์ Mix & Match กับวัสดุตกแต่งผนังได้ตามความต้องการ

การติดตั้ง Cylence รุ่น Zoundblock และ Cylence รุ่น Zandera  เริ่มด้วยการเตรียมโครงสร้าง โดยติดตั้งโครงกัลวาไนซ์บนผนัง เว้นระยะห่างไม่เกิน 60 ซ.ม. จากนั้นทำการติดตั้งผลิตภัณฑ์ Cylence รุ่น Zoundblock ที่มีคุณสมบัติป้องกันกั้นเสียงดังระหว่างห้อง โดยติดตั้งระหว่างช่องว่างของโครงคร่าว นำผนังสมาร์ทบอร์ดมากรุปิดทับและยิงด้วยตะปูเกลียว ขั้นตอนสุดท้ายตกแต่งผนังด้วยผลิตภัณฑ์ Cylence รุ่น ZANDERA มาจัดจังหวะให้สวยงาม ด้วยการทากาวด้านหลังผลิตภัณฑ์เป็นแนวทแยงมุม แล้วแปะที่ผนังตามรูปแบบที่ต้องการ

2. ปิดช่องโหว่ตรงขอบประตู หน้าต่าง

        เสียงจากภายนอกสามารถเข้ามาได้จากหลายทิศทาง ไม่เว้นแม้แต่ช่องวางเล็ก ๆ ใต้ขอบประตูหรือหน้าต่าง วิธีสังเกตง่าย ๆ หากปิดประตูหน้าต่างแล้วแต่ยังมีเสียงจากภายนอกชัดเจน มีแนวโน้มสูงว่าเสียงอาจเล็ดลอดมาจากช่องทางนี้ จึงควรปิดช่องโหว่ให้เรียบร้อย หากเป็นหน้าต่างไม้ให้ใช้ซิลิโคนอุดระหว่างวงกบ, ใช้ซีลยางปิดช่องว่างประตู ในกรณีที่ช่องว่างใหญ่เกินปิดด้วยยางขอบประตูไม่ได้ ให้ติดแผ่นไม้อัดเข้าไปตรงฐานประตูก่อน หรือหากมีแผนที่จะเปลี่ยนประตูหน้าต่างอยู่แล้ว แนะนำให้เลือกบานกระจกแบบ 2 ชั้น พร้อมกับติดตั้งขอบกันเสียง จะช่วยป้องกันเสียงได้ดีกว่าบานประตูหน้าต่างแบบทั่วไป

3. ติดตั้งฝ้าซับเสียง

        ปัญหาในการอัดเสียงนอกจากจะมาจากเสียงรบกวนภายนอกแล้ว ยังอาจเกิดจากเสียงที่สะท้อนภายใน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ จากพื้นผิวของวัสดุต่าง ๆ ภายในห้อง เนื่องจากพื้นผิวที่เรียบและแข็งอย่างผนังฉาบเรียบธรรมดาจะไม่สามารถดูดซับเสียงได้ดีพอ ทำให้เสียงสะท้อนกลับออกมามากเกินจนเกิดเสียงก้อง

ภาพ : แสดงตัวกลางของเสียงและการส่งผ่านเสียงบนพื้นผิวส่วนต่าง ๆ

        การหยุดหรือลดการก้องสะท้อนที่จะส่งผ่านจึงต้องทำทั้งพื้น ผนัง และเพดานควบคู่กัน การติดตั้งวัสดุที่มี Texture มีความนุ่มหรือรูพรุน จะช่วยป้องกันเสียงก้องได้ดี ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์แผ่นฝ้าเพดานที่มีคุณสมบัติซับเสียงหรือฉนวนบนเพดานที่สามารถกันเสียงมาให้เลือกใช้ด้วย เช่น แผ่นฝ้าเพดานอะคูสติก Cylence รุ่น Wondery ที่ผลิตจากแผ่นฉนวนกลาสวูล (glasswool) มีความหนาแน่นสูง ปิดผิวหน้าและด้านหลังด้วยแผ่นกลาสแมท เคลือบขอบรอบด้านด้วยสารอะคริลิกลาเท็กซ์ สามารถดูดซับเสียงได้ถึง 90% จึงลดเสียงก้องภายในห้องที่เกิดจากการสะท้อนของเสียงกับฝ้าเพดานได้ดี

4. ปูพรมบนพื้น

        พรมสำหรับปูพื้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตกแต่งบ้านเพิ่มสวยงามและความอบอุ่นเท่านั้น ยังมีส่วนช่วยลดเสียงรบกวนในห้อง ด้วย ชนิดวัสดุที่ใช้ทอพรมเป็นเส้นใยมีคุณสมบัติช่วยดูดซับเสียงค่อนข้างดี เมื่อใช้ปูที่พื้นจะดูดซับเสียงในระดับพื้น ลดเสียงสะท้อนภายในห้องและเสียงฝีเท้าได้ พรมที่นิยมใช้มักเป็นพรมอัดชนิดลูกฟูกเพราะหาซื้อง่ายและราคาไม่แพง

        โดยสรุปจะเห็นว่าทุกพื้นที่ในห้องสามารถเป็นต้นเหตุของการเกิดเสียงรบกวนได้ ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน เมื่อคิดจะทำการปรับแก้ก็ต้องทำควบคู่กันทั้งหมด ส่วนวัสดุแต่ละชนิดก็มีความสามารถดูดซับเสียง ลดเสียงสะท้อน หรือกั้นเสียงได้ในระดับที่แตกต่างกันไป การตัดสินใจเลือกใช้วัสดุใด ๆ จึงต้องทำความเข้าใจในวัสดุและเทคโนโลยีแล้วเลือกให้เหมาะสม จะช่วยคลายปัญหาในการจัดการสตูดิโอของ Youtuber ให้ผลงานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ไร้เสียงรำคาญกวนใจ และงานเสร็จในเวลาที่รวดเร็วขึ้นครับ


สนใจบริการออกแบบและติดตั้งห้องกันเสียงเอสซีจี

ขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญฟรีได้ที่ SCG Home Solution และ SCG Experience
หรือ โทร. 02-586-2222



แท็กที่เกี่ยวข้อง