สร้างบ้าน ค.ส.ล. ต้องใส่ใจ คอนกรีต กับ เหล็ก
รอบรู้เรื่องบ้าน

สร้างบ้าน ค.ส.ล. ต้องใส่ใจ คอนกรีต กับ เหล็ก

23.7K

6 พฤษภาคม 2567

สร้างบ้าน ค.ส.ล. ต้องใส่ใจ คอนกรีต กับ เหล็ก


 

"บ้านควรเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคน โครงสร้างบ้านที่แข็งแรงก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญของความปลอดภัย หากเป็นบ้าน ค.ส.ล. หรือ คอนกรีตเสริมเหล็ก จะแข็งแรงปลอดภัยได้ก็ด้วยความสมบูรณ์ของคอนกรีต และเหล็ก ที่ไม่ใช่แค่คุณภาพของวัสดุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการออกแบบและการก่อสร้างที่ถูกต้องด้วย"

        การสร้างบ้าน ค.ส.ล. เป็นที่นิยมกันมาช้านาน เพราะนอกจากจะหาวัสดุกับบริการก่อสร้างได้ง่ายในราคาไม่แพงแล้ว ยัง “ให้ความรู้สึกแข็งแรง” อีกด้วย แต่จะแข็งแรงจริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ความถูกต้องของโครงสร้างบ้าน ทั้งนี้โครงสร้างค.ส.ล.ที่มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่าคอนกรีตเสริมเหล็กนั้น ส่วนประกอบหลักอย่าง “คอนกรีต” และ “เหล็ก” ย่อมมีบทบาทโดยตรงต่อความแข็งแรงและปลอดภัยของโครงสร้าง

 

“คอนกรีต” และ “เหล็ก” ส่วนประกอบหลักที่มีผลโดยตรงต่อความแข็งแรงของโครงสร้าง ค.ส.ล.

 

หล่อคอนกรีตอย่างไรไม่ให้บ้านพัง ?
ส่วนผสมลงตัว: เนื้อคอนกรีตจะสมบูรณ์แข็งแรงรับน้ำหนักได้ดีนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เริ่มต้นจากส่วนผสม คือปูนซีเมนต์ หิน กรวด ทราย และน้ำ ส่วนผสมเหล่านี้ควรมีสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเฉพาะ “น้ำ” หากใส่น้อยเกินไปคอนกรีตจะเกาะตัวได้ไม่ดีและเกิดรูในเนื้อคอนกรีต ในทางกลับกันถ้าใส่น้ำเยอะเกินไป แม้คอนกรีตจะไหลลื่นลงแบบได้ง่ายแต่กำลังของคอนกรีตจะลดลงทำให้ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้เป็นส่วนผสมควรจะได้มาตรฐาน เช่น ต้องใช้น้ำที่สะอาด ใช้เม็ดหินขนาดกำลังดี ไม่เล็กเกินไปและมีความขรุขระพอสมควรเพื่อให้ยึดเกาะกับเนื้อคอนกรีต ได้ดี

หินภูเขา มีพื้นผิวขรุขระยึดเกาะคอนกรีตได้ดี
ขอบคุณภาพ : topicstock.pantip.com

 

เทถูกวิธี: การเทคอนกรีตจะต้องเขย่าให้ไหลเข้าเต็มแบบและกระจายตัวอย่างทั่วถึง (มักพึ่งอุปกรณ์ช่วยอย่างเครื่องจี้คอนกรีต) รอยต่อของไม้แบบจะต้องแนบกันสนิท หากมีรอยรั่วควรอุดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันมิให้คอนกรีตรั่วไหลออกจนเกิดโพรงในเนื้อคอนกรีตได้ นอกจากนี้การหล่อคอนกรีตที่ได้มาตรฐาน จะต้องมี ระยะคอนกรีตหุ้มเหล็ก (วัดจากผิวนอกของเหล็กถึงผิวนอกคอนกรีต) ที่มากพอ เพื่อป้องกันมิให้เหล็กเสริมโผล่ออกมาโดนความชื้นภายนอกจนเกิดสนิมและทำให้โครงสร้างบริเวณนั้นเกิดแตกร้าวและลดความแข็งแรงได้ โดยปกติช่างมักใช้ “ลูกปูน” หนุนขณะหล่อคอนกรีตเพื่อป้องกันไม่ให้เหล็กแตะผิวไม้แบบ คอนกรีตจะได้หุ้มเหล็กอย่างทั่วถึง

 

ซ้าย : การตั้งไม้แบบหล่อคอนกรีต ขวา : การเทคอนกรีตลงในแบบ

 

การผูกลูกปูนเข้ากับเหล็กเสริมเพื่อหนุนขณะหล่อคอนกรีตป้องกันไม่ให้เหล็กแตะผิวไม้แบบ

 



ระยะคอนกรีตหุ้มเหล็กที่มากพอ เพื่อป้องกันมิให้เหล็กเสริมโผล่ออกมาโดนความชื้นภายนอกจนเกิดสนิม

 

บ่มนานพอ เทต่อถูกจุด: หลังจากเทคอนกรีตเรียบร้อยแล้วควรทำการบ่มคอนกรีต และทิ้งระยะเวลาเซทตัวที่เหมาะสมก่อนจะถอดแบบ (ประมาณ 7 -28 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทปูนที่ใช้และตำแหน่งการรับน้ำหนักของโครงสร้าง) เพื่อให้การรับแรงของคอนกรีตมีประสิทธิภาพเต็มที่ ทั้งนี้การหล่อเทคอนกรีตสร้างบ้านทั้งหลังให้พร้อมกันทีเดียว ทั้งเสา คาน พื้น นับว่าเป็นเรื่องดี แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นจึงต้องทำการเทหล่อแยกทีละส่วน สิ่งสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้คือ การกำหนดรอยต่อของการหล่อแต่ละครั้งให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพราะรอยต่อทุกจุดล้วนมีผลต่อแรงเฉือนซึ่งจะเกิดที่ขณะโครงสร้างรับน้ำหนัก หากรอยต่ออยู่ผิดที่ผิดทางอาจเป็นอันตรายต่อโครงสร้างได้

ตัวอย่างตำแหน่งอันตรายที่ห้ามกำหนดเป็นรอยต่อของการหล่อคานคอนกรีต

 

เสริมเหล็กอย่างไรให้บ้านแข็งแรง ?
เหล็กดีมีคุณภาพ: เหล็กเสริมที่ใช้ในโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กจะทำหน้าที่รับแรงดึง (ในขณะที่คอนกรีตรับแรงอัด) โดยอยู่ในรูปของเหล็กเส้น 2 ชนิด คือ “เหล็กข้ออ้อย” สำหรับงานโครงสร้างหลักๆ กับ “เหล็กกลม” สำหรับทำเหล็กปลอก และใช้เสริมโครงสร้างที่รับน้ำหนักไม่มาก เหล็กที่เลือกใช้ควรเป็น “เหล็กเต็ม” หรือ “เหล็กโรงใหญ่” ซึ่งหมายถึงเหล็กที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และน้ำหนักของเหล็กได้มาตรฐาน มอก. โดยจะต้องอยู่สภาพดีไม่เป็นสนิมขุม (สนิมที่กินลึกถึงเนื้อใน) ด้วย

 

เหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย (สังเกตเหล็กข้ออ้อยจะเป็นลายปล้อง)

เหล็กเสริมที่ผูกตั้งไว้เตรียมหล่อเสาคอนกรีต (ใช้เหล็กข้ออ้อยเป็นเหล็กยืนแล้วรัดรอบด้วยเหล็กเส้นกลม)

 

ระยะทาบถูกต้อง ต่อเหล็กถูกที่: อีกปัจจัยสำคัญของเหล็กเสริมที่มีผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างคือ การทาบต่อเหล็ก ไม่ว่าจะเป็น “ระยะทาบเหล็ก”คือ ระยะที่เหล็ก 2 เส้นมาทาบต่อเชื่อมกัน ซึ่งจะต้องมากพอที่จะทำให้เหล็กทั้ง 2 ยึดต่อกันได้อย่างมั่นคง กับอีกเรื่องหนึ่ง คือ “ตำแหน่งที่เหล็กทาบต่อกัน” จะต้องอยู่ในจุดที่เหมาะสมซึ่งจะสัมพันธ์ต่อการรับแรงดึงและอัด ของโครงสร้าง สำหรับปลายหัวท้ายของเหล็ก ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับเหล็กเส้นอื่น จะต้องจับมางอปลายเพื่อให้ยึดเกาะกับคอนกรีตได้แน่นยิ่งขึ้น โดยระยะในการงอจะต้องเหมาะสม และงออย่างถูกวิธี เช่น เหล็กกลมจะงอปลายเป็นรูปเกือกม้า ส่วนเหล็กข้ออ้อยจะมีผิวเป็นปล้องซึ่งยึดเกาะคอนกรีตได้ดีอยู่แล้วจึงงอในลักษณะหักฉากก็เพียงพอ เป็นต้น เรื่องการทาบต่อเหล็กและการงอเหล็กทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องอีกสำคัญที่ละเลยไม่ได้ เพราะหากทำผิดวิธีก็อาจมีส่วนทำให้บ้านไม่แข็งแรงได้ด้วยเช่นกัน

 

การใช้เหล็กเสริมในคอนกรีต

 

        จะเห็นได้ว่า ทั้งคอนกรีตและเหล็ก ต่างก็มีความสำคัญต่อโครงสร้าง ค.ส.ล. ไม่แพ้กัน และถึงแม้ที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องที่อยู่อยู่ภายใต้การดูแลของวิศวกรโครงสร้าง ทั้งส่วนของการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง แต่เจ้าของบ้านก็ควรศึกษาทำความเข้าใจ เพราะอย่างไรเสียเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นกลับเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างบ้าน ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของสมาชิกในบ้านทุกคน

แท็กที่เกี่ยวข้อง