วิธีลดปัญหาเสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม
เคล็ดลับน่ารู้

วิธีลดปัญหาเสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม

30.5K

10 พฤษภาคม 2567

3 วิธีลดปัญหาเสียงดังจากโรงงานอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ

โรงงานอุตสาหกรรมแทบทุกประเภท ล้วนต้องใช้เครื่องจักรซึ่งมักก่อให้เกิดเสียงดังรบกวน  การหาวิธีควบคุมเสียงเพื่อมิให้ส่งผลต่อทั้งสุขภาพของพนักงานในโรงงาน
รวมถึงผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียง จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงสำหรับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทุกท่าน

         เสียงที่มีความดังในระดับ 85 เดซิเบลขึ้นไปนั้น ทางองค์การอนามัยโลกถือว่าอันตรายต่อร่างกายคน และเป็นระดับเสียงที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทซึ่งล้วนต้องใช้เครื่องจักร ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมจึงควรทำความเข้าใจเรื่องของการลดและป้องกันเสียงดังด้วยกัน  รวมถึงการออกแบบห้องเก็บเสียงในโรงงาน เพื่อใช้ในการควบคุมระดับเสียงจากโรงงานให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและเป็นมิตรกับพนักงาน รวมถึงผู้คนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงด้วย

          สำหรับแนวทางรับมือปัญหาเรื่องเสียงดังจากโรงงานอุตสาหกรรมนั้น อาจมีวิธีควบคุมโดยพิจารณา 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ตัวแหล่งกำเนิดเสียง ระยะห่างจากแหล่งกำเนิดเสียง และการป้องกันของตัวผู้รับเสียงเอง          

1) ควบคุมแหล่งกำเนิดเสียง เลี่ยงเสียงดังอันตราย

     เป็นการควบคุมปริมาณเสียงจากตัวแหล่งกำเนิดเสียงเอง ไม่ว่าจะเป็น การเลือกใช้เครื่องมือรุ่นที่ออกแบบมาเป็นพิเศษซึ่งทำงานได้โดยไม่ส่งเสียงดังเกินมาตรฐาน การออกแบบเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยลดเสียง รวมถึง ตรวจสอบกระบวนการผลิตอย่างละเอียด ว่ามีขั้นตอนใดที่ก่อให้เกิดเสียงดังบ้าง เผื่อจะได้ทำการแก้ไขหรือหาวิธีการอื่นทดแทนในขั้นตอนการผลิตนั้นๆ เพื่อให้เสียงลดลง

   นอกเหนือจากตัวเครื่องจักรและกระบวนการผลิตแล้ว อาจ หาวัสดุป้องกันเสียงมาปิดล้อมเพิ่ม หรือออกแบบห้องเก็บเสียงในโรงงานให้ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยลดเสียงที่ลอดออกจากห้องเครื่องจักร รวมถึงติดตั้งวัสดุซับเสียงที่ผนังภายในของห้อง นอกจากนี้ควรตรวจสอบตำแหน่งของเครื่องจักรให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มั่นคง และตรวจสอบอุปกรณ์รองฐานเครื่องเพื่อป้องกันการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร เช่น สปริง หรือยางรอง เป็นต้น หากเครื่องจักรไม่ได้ตั้งอยู่บนอุปกรณ์ป้องกันการสั่นสะเทือนที่เหมาะสมแล้ว แรงสั่นสะเทือนจากการทำงานจะยิ่งส่งผลให้เกิดเสียงดังมากขึ้น และยังเป็นอันตรายต่อบุคลากรรวมถึงบุคคลในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

  

อีกเรื่องสำคัญที่ไม่ควรลืมคือ การบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ คอยหยอดน้ำมันหล่อลื่นให้ไม่ฝืด เพื่อลดเสียงรบกวนจากการเสียดสีของเครื่องจักร รวมไปถึงเลือกใช้วัสดุที่ได้คุณภาพมาตรฐานในการสร้างห้องเก็บเสียงในโรงงาน

2) ระยะจากแหล่งกำเนิดเสียง ห่างมากดังน้อย ห่างน้อยดังมาก

     ระยะห่างจากต้นกำเนิดเสียงยิ่งไกลมากมากเสียงจะยิ่งเบาลง ดังนั้น การจัดวางตำแหน่งของเครื่องจักรหรือแหล่งกำเนิดเสียงให้ห่างจากผู้รับเสียงมากที่สุด จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดเสียงดังได้ โดยหลักแล้วระดับของเสียงจะลดลง 6 เดซิเบล ของทุกๆ ระยะทางที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ยกตัวอย่างเช่น เครื่องจักรห่างจากชุมชน 100 เมตร ส่งเสียงในระดับ 120 เดซิเบล หากขยับเครื่องจักรถอยออกห่างเป็น 200 เมตร ระดับเสียงจะลดลงไปอยู่ที่ 114 เดซิเบล เป็นต้น

  ทั้งนี้ เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเสียงได้ด้วยการ จัดทำห้องเก็บเสียงในโรงงานหรือกำแพงกั้น รวมถึง การใช้วัสดุป้องกันเสียงร่วมกับวัสดุดูดซับเสียงบริเวณที่เสียงเดินทางผ่าน ก็จะสามารถช่วยกรองและลดระดับความดังของเสียงลงได้ นอกจากนี้ภายในบริเวณพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมหรือพื้นที่ระหว่างห้องเครื่องจักรกับผู้รับเสียง หากสามารถ ปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีใบดกขึ้นปกคลุม ก็จะช่วยลดระดับของเสียงได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยลดมลพิษบางส่วนในพื้นที่โรงงานไปด้วยพร้อมกัน

ภาพ: ตัวอย่างผนังห้องเก็บเสียงในโรงงานที่ติดตั้งวัสดุอะคูสติก เอสซีจี รุ่น Cylence Zoftone สำหรับดูดซับเสียง
ขอบคุณภาพ: สยามไฟเบอร์กลาส

          
3) รับเสียงให้น้อย ใช้สอยอุปกรณ์ป้องกันเสียง

     แนวทางในการควบคุมเสียงวิธีสุดท้าย คือการป้องกันที่ตัวของผู้รับเสียงเอง อย่างการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันหูเพื่อลดระดับความดังของเสียง โดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ที่ครอบหู ซึ่งจะปิดหูและกระดูกรอบๆ ใบหูทั้งหมด ช่วยลดระดับความดังของเสียงได้มากถึง 20-40 เดซิเบล ส่วนอีกประเภทจะป้องกันเสียงได้น้อยกว่าคือ ปลั๊กอุดหู ทำจากยางหรือพลาสติก สำหรับใช้สอดเข้าไปอุดในหู สามารถลดระดับความดังของเสียงได้ประมาณ 10-20 เดซิเบล นอกจากนี้ ควรมีการควบคุมระยะเวลาในการทำงานที่ต้องรับเสียงให้ไม่นานเกินไปจนเกิดอันตราย

ภาพ: ตัวอย่างปลั๊กอุดหูสำหรับป้องกันเสียง

การควบคุมเสียงจากโรงงานให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน ไม่เป็นอันตรายต่อพนักงานในโรงงานและชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง นับเป็นความรับผิดชอบที่ผู้ประกอบการทุกคนไม่ว่าจะอุตสาหกรรมใดก็แล้วแต่ควรให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ยังถือเป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินกิจการ ที่เป็นมิตรกับทั้งคนภายในและภายนอกองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน ที่สำคัญต้องเลือกใช้วัสดุในการทำห้องเก็บเสียงภายในโรงงานที่ได้คุณภาพ และใช้เครื่องจักรที่ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดเสียงที่เป็นผลเสีย

ขอขอบคุณแหล่งที่มาจาก
ภาพเปิดบทความโดย pixabay.com

รายละเอียดสินค้าวัสดุกันเสียง/ซับเสียง คลิก

แท็กที่เกี่ยวข้อง