9.2K
27 พฤษภาคม 2567
"Siri House อาคารพาณิชย์สองคูหาที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปีพ.ศ. 2559 จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ประเภทโครงการปรับปรุงอาคารเดิม ที่ทีมสถาปนิกจาก IDIN Architects ร่วมกันออกแบบและปรับปรุงตึกแถวอายุหลายสิบปีบนถนนสุรวงศ์ทั้งสองหลังให้สอดประสานระหว่างกันทั้งแนวตั้งและแนวนอน กระทั่งกลายเป็นบ้านหลังใหม่ที่มีรูปแบบทันสมัย สามารถตอบสนองวิถีทางดำเนินชีวิตของสมาชิกทุกคนภายในบ้านได้อย่างสมบูรณ์"
หากมองย้อนกลับไปในช่วงเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา วงการวิชาชีพออกแบบสถาปัตยกรรมในบ้านเราเริ่มมีการตื่นตัวและให้ความสนใจต่อแนวคิดใหม่ๆ ของงานออกแบบปรับปรุงอาคาร (Building Renovation) มากกว่าที่เคย โดยเฉพาะหมวดอาคารขนาดเล็ก เช่น ที่พักอาศัย ร้านค้าส่วนตัว ฯลฯ เนื่องจากพื้นที่ว่างในเมืองนั้นหาได้ยากมาก ส่วนใหญ่จะถูกจับจองและกว้านซื้อโดยกลุ่มนายทุนที่มีกำลังซื้อสูงกันไปหมดแล้ว ฉะนั้นความเป็นไปได้ที่จะมีพื้นที่พักอาศัยส่วนตัวในเขตเมืองได้ ทางหนึ่งก็คือการมองหาอาคารเก่าพร้อมที่ดินจากช่วงยุคปี 70s-80s ซึ่งก็พอจะมีหลงเหลืออยู่บ้าง และแม้ส่วนใหญ่จะมีสภาพเก่าทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบันก็พอจะช่วยให้เราก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ ของงานก่อสร้างที่เคยมีอยู่ได้ไม่ยากอะไรนัก
Siri House โดยทีมสถาปนิกจาก IDIN Architects เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับงานปรับปรุงอาคารที่พักอาศัยตามที่เกริ่นไว้ข้างต้น เพราะเมื่อเราคำนวณงบประมาณที่ใช้ไปตั้งแต่การจัดซื้ออาคารเก่าริมถนนสุรวงศ์ไปจนถึงขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างแล้วพบว่ามีความคุ้มค่ากว่าการซื้อห้องชุดของคอนโดมิเนียมหรูในทำเลที่ตั้งใกล้เคียงกัน ทั้งในแง่ของราคาและการถือสิทธิ์ครอบครองที่ดิน แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ทีมสถาปนิกและเจ้าของบ้านก็ต้องทำงานร่วมกันอย่างละเอียดทุกขั้นตอนเพื่อแปลงโฉมอาคารพาณิชย์เก่าสองคูหานี้ซึ่งมีสภาพเก่าและทรุดโทรมให้กลายเป็นโฮมออฟฟิศความสูง 7 ชั้น พร้อมพื้นที่ใช้สอยขนาด 1,000 ตารางเมตร และมีรูปแบบทันสมัย สำหรับครอบครัวนักธุรกิจอัญมณีซึ่งมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายอย่างที่เห็น
ภาพ: มุมมองเปรียบเทียบรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเก่ากับใหม่ของ Siri House และอาคารข้างเคียง
กระบวนการออกแบบใน Siri House เริ่มต้นด้วยการส่งทีมงานเข้าไปสำรวจอาคารเก่าที่มีอยู่เดิม พร้อมกับทำรังวัดเพื่อบันทึกข้อมูลของพื้นที่ว่างและตำแหน่งโครงสร้างเดิมที่ยังใช้การได้ ก่อนที่จะนำไปเปรียบเทียบกับความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอยจากเจ้าของบ้าน เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการออกแบบ นอกจากนั้น ทีมสถาปนิกยังต้องทำงานร่วมกับทีมวิศวกรโครงสร้างอย่างละเอียดไปพร้อมๆ กัน เพื่อคำนวณว่ามีโครงสร้างส่วนใดที่ต้องรื้อทิ้ง หรือส่วนไหนที่จะต้องเสริมความแข็งแรงเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะสรุปออกมาเป็นขนาด สัดส่วน และรูปแบบของพื้นที่ใช้สอยที่มีความชัดเจน โดยเริ่มต้นจากการเข้าถึงตัวอาคารได้จากริมถนนสุรวงศ์ มาสู่โชว์รูม เวิร์คชอป และออฟฟิศที่ชั้น 1 ถึงชั้น 2 ซึ่งถูกจัดให้เป็นพื้นที่รองรับลูกค้า และจัดแยกทางเข้าที่นำไปยังส่วนพื้นที่พักอาศัยที่ชั้น 3 ถึงชั้น 6 ไว้อีกด้านหนึ่งของอาคาร โดยที่ชั้น 7 นั้นได้ถูกออกแบบให้เป็นห้องพักผ่อนรวมเพื่อให้สมาชิกครอบครัวทุกคนมีโอกาสพบปะกันในชีวิตประจำวัน
ภาพ: การเชื่อมโยงด้านมุมมองของพื้นที่ชั้นล่างซึ่งเป็นโชว์รูมอัญมณีกับบริบทของถนนสุรวงศ์
ในรายละเอียดของพื้นที่พักอาศัย เนื่องจากพื้นที่ของตัวอาคารสองคูหานั้นมีหน้าแคบและลึก สถาปนิกจึงแบ่งพื้นที่พักอาศัยให้เป็นสี่ส่วนสำหรับสมาชิกครอบครัวที่เป็นพี่น้องกันสี่คน โดยแต่ละส่วนสามารถเข้าถึงได้ด้วยลิฟต์และบันได
ภาพ: มุมมองในห้องนั่งเล่นที่มองจากระดับชั้น 7 ลงไปที่ระดับชั้น 6
มีการจัดพื้นที่เป็นแบบสองชั้น (Duplex) และเล่นระดับพื้นเพื่อลดทอนความเป็นพื้นที่ที่เป็นแนวยาวให้มีความกระชับ ประหนึ่งเป็นการนำบ้านหลังเล็กๆ สี่หลังมาเรียงต่อขึ้นไปในแนวตั้ง
ภาพ: พื้นที่พักอาศัยแต่ละชั้นมีความสูงเป็นแบบ Double Height เพื่อลดความอึดอัดแบบห้องแถว
โดยระหว่างพื้นที่พักอาศัยทั้งสี่ส่วนนั้น สถาปนิกได้สอดแทรกพื้นที่เปิดโล่งแนวตั้ง ช่องแสง และการจัดสวน เพื่อดึงแสงธรรมชาติ และสร้างการไหลเวียนของอากาศให้เกิดขึ้นภายในตัวอาคาร ซึ่งต่างจากอาคารห้องแถวแบบเก่าโดยทั่วไปซึ่งมีลักษณะทึบตัน
ภาพ: ทางเดินไปสู่ห้องพักผ่อนรวมที่ชั้น 7 แสดงให้เห็นช่องแสง และช่องเปิดโล่งที่เชื่อมโยงระหว่างชั้นล่าง
ภาพ: สถาปนิกสอดแทรกช่องเปิด ช่องแสง และงานแลนด์สเคปเข้าไปอยู่ระหว่างพื้นที่พักอาศัยแต่ละส่วน
ภาพ: มุมมองจากห้องนั่งเล่นและห้องครัวของส่วนพักอาศัยที่เชื่อมต่อระหว่างกัน
ภาพ: การเว้นที่ว่างไว้บางส่วนเช่นด้านหน้าโถงลิฟต์และโถงบันไดทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศดีขึ้น
ภาพ: แสงธรรมชาติจากชั้นบนสุดของอาคารส่องผ่านเข้ามาถึงพื้นที่ชั้นล่างๆ ซึ่งมีการจัดสวนขนาดเล็ก
ภาพ: ตัวอย่างพื้นที่พักอาศัยที่ถูกออกแบบให้มีประโยชน์ใช้สอยประหนึ่งบ้านเล็กๆ หนึ่งหลัง
การเรียบเรียงพื้นที่ซึ่งค่อนข้างมีความซับซ้อนแต่ตอบสนองเรื่องประโยชน์ใช้สอยได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้น สะท้อนออกมาให้เห็นบน façade หรือรูปด้านอาคารซึ่งดูคล้ายกับเหลี่ยมเพชรที่มีการหักมุมไปมาระหว่างชั้นแต่ละชั้น
มองจากระยะไกล ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน รูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของ Siri House นั้นดูโดดเด่นและแตกต่างจากอาคารห้องแถวเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบอย่างชัดเจน แต่เราเชื่อว่า อีกไม่นานเกินไปนัก อาคารเหล่านั้นก็ล้วนต้องถูกปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยมีวิธีคิดวิธีทำของบ้าน Siri House หลังนี้เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำหรับความเป็นไปดังกล่าวนั้นอย่างแน่นอน ล่าสุด Siri House ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปีพ.ศ. 2559 จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ประเภทโครงการปรับปรุงอาคารเดิม
ภาพ: ภาพบรรยากาศของ Siri House ยามค่ำคืน