รู้ทันสาเหตุดินทรุด พื้นบ้านเป็นโพรง
รอบรู้เรื่องบ้าน

รู้ทันสาเหตุดินทรุด พื้นบ้านเป็นโพรง

34.2K

5 พฤษภาคม 2567

รู้ทันสาเหตุดินทรุด พื้นบ้านเป็นโพรง

        เมื่อสังเกตเห็นว่าพื้นดินรอบบ้านเริ่มทรุดจนเห็นเป็นรูโพรงใต้ตัวบ้าน เจ้าของบ้านมักตกใจและเข้าใจว่าที่ดินทรุดเป็นโพรงเพราะบ้านทรุดตัวลง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันนักต่อนัก และหลายบ้านได้แก้ไขปัญหาด้วยการถมดินปิดโพรงหลายครั้ง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปอาการดังกล่าวก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม

        ซึ่งอันที่จริงแล้วการเกิดโพรงบริเวณใต้อาคารรอบ ๆ ตัวบ้าน บางกรณีไม่ใช่สถานการณ์เลวร้ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะบ้านที่สร้างในพื้นที่ดินอ่อน ดินเลน อย่างภาคกลาง ภาคใต้ หรือพื้นที่เป็นแหล่งน้ำเดิม มีโอกาสที่ดินจะทรุดลงเรื่อย ๆ จนเกิดรูโพรงโดยไม่กระทบตัวบ้านเลย เนื้อหานี้จะทำการแยกให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า แบบไหนคือดินทรุด แบบไหนคือบ้านทรุด เพื่อความสบายใจของผู้เป็นเจ้าของและเพื่อการแก้ไขให้ตรงจุด



สาเหตุหลักที่ทำให้ดินทรุด

        ปัญหาดินทรุดรอบบ้านเป็นปัญหาที่เจ้าของบ้านหลายหลังสับสนว่า แบบไหนคือบ้านกำลังทรุด หรือแบบไหนแค่ดินทรุดเฉย ๆ ก่อนที่จะเจาะลึกถึงเรื่องความต่างระหว่างดินทรุดกับบ้านทรุด อันดับแรกเจ้าของบ้านต้องทำความเข้าใจก่อนคือ ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ดินรอบบ้านมีโอกาสทรุดลง จนทำให้เกิดเป็นโพรง  ซึ่งแบ่งได้  3 สาเหตุ ดังนี้

  1. เกิดจากดินทรุดโดยธรรมชาติ จากสภาพของดิน ณ จุดที่สร้างบ้านนั้น ๆ เป็นดินอ่อนนุ่ม โดยเฉพาะดินในพื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวอ่อน ซึ่งมีอัตราการยุบตัวตามธรรมชาติอยู่แล้วทุก ๆ ปี ในช่วงปี พ.ศ.2521-2527 อัตราการทรุดตัวจะค่อนข้างสูง (เฉลี่ยประมาณ 7 -10เซนติเมตร/ปี) แต่ภายหลังจากมีนโยบายเรื่องการใช้น้ำบาดาล บางพื้นที่อัตราการทรุดตัวเริ่มมีแนวโน้มลดลงเหลือ 2-3 เซนติเมตร แต่ยังมีการทรุดตัวของพื้นดินต่อเนื่อง

2. เกิดจากแรงกระทำรอบ ๆ โดยเครื่องจักรหรือมนุษย์ หากที่ตั้งของบ้านอยู่ใกล้จุดที่กำลังดำเนินงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ มีการตอกเสาเข็มด้วยปั้นจั่น แรงสั่นสะเทือนในการตอกและการเคลื่อนตัวของดินที่ถูกแทนที่ด้วยเสาเข็ม จะทำให้ผืนดินรอบ ๆ บ้านเกิดการเคลื่อนตัวขยับเลื่อนไหลลงหรือทรุดลงได้ หรือบ้านอยู่ใกล้บริเวณพื้นที่ขุดดินขาย ขุดสระขนาดใหญ่ หากตำแหน่งบ้านอยู่ติดชิดกับสระ ย่อมมีโอกาสที่ดินจะทรุดได้

3. ดินทรุดจากการถมที่ หลังจากถมดินทิ้งระยะไว้ไม่นานพอ ดินไม่เซ็ตตัวให้แน่นก่อนปลูกสร้างอาคาร หากมีช่วงที่ฝนตกหนักอาจทำให้ดินที่ถมไว้เกิดการทรุดตัวและไหลลงสู่ที่ต่ำ จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคานด้านล่างบ้านกับพื้นดินจนเกิดเป็นโพรงใต้บ้านได้ ก่อนสร้างบ้านจึงควรถมดินทิ้งไว้ก่อนประมาณ 2-3 ปี หรืออย่างน้อยให้ผ่านฤดูฝนสักฤดูครับ


แยกให้ออกระหว่างดินทรุดกับบ้านทรุด



        ดินรอบบ้านเกิดจากได้ 3 สาเหตุข้างต้น อาการของดินทรุดจะเกิดเป็นโพรงใต้บ้านบริเวณฐานราก แต่ฐานรากของบ้านยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม การเกิดโพรงดินลักษณะนี้เจ้าของบ้านจึงอุ่นใจได้เลยว่า ทรุดเฉพาะดินไม่ได้ทรุดที่ตัวบ้านครับ

        แต่หากตัวบ้าน พื้นบ้าน หรือส่วนใด ๆ มีการทรุดหรือแยกตัว เช่น บริเวณครัวที่ต่อเติม พื้นโรงจอดรถ ชานระเบียงบ้านเกิดการทรุดตัวจนทำให้เกิดความเสียหาย ลักษณะนี้เป็นผลพวงของปัญหาดินทรุดที่ส่งผลให้บ้านที่ใช้เสาเข็มผิดวิธีเกิดการทรุดตัวตาม ลักษณะนี้นอกจากจะต้องแก้ปัญหาดินทรุดแล้ว จะต้องแก้ปัญหาบ้านทรุดร่วมด้วย

ดินทรุดทำให้บ้านทรุดได้อย่างไร

        ปัญหาการทรุดตัวของดิน ส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาที่เกิดจากลักษณะธรณีวิทยา เป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านจำเป็นต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและค่อย ๆ แก้ปัญหา ดูแลรักษาไปตามสภาพด้วยการปิดรูโพรงดินอย่างสม่ำเสมอ หรือเรียกใช้บริการผู้เชี่ยวชาญมาปิดโพรงดินให้ จะช่วยยืดระยะเวลาของการเกิดโพรงดินได้ยาวนาน หากตัวบ้านสร้างบนฐานรากที่ถูกต้อง จะไม่มีผลกระทบใด ๆ กับตัวบ้าน

        แต่หากฐานรากของบ้าน ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับกับการทรุดตัวของดิน ปัญหาดินทรุดย่อมก่อให้เกิดปัญหาบ้านทรุดตามมาได้เช่นกันครับ โดยปัญหานี้มักเกิดจากงานต่อเติมเพิ่มภายหลัง หรือเกิดจากกระบวนการก่อสร้างที่ผิดวิธี โดยเฉพาะในส่วนงานเสาเข็มที่มีความยาวไม่เท่ากัน

        โดยปกติการก่อสร้างบ้านในพื้นที่มีปัญหาดินทรุด อย่างภาคกลาง กรุงเทพมหานคร  ปริมณฑล จำเป็นต้องลงเสาเข็ม แตกต่างจากพื้นที่เนินเขาภาคเหนือที่มีสภาพดินแข็งมาก สามารถสร้างด้วยระบบฐานแผ่ได้ เสาเข็มที่นิยมใช้มีความยาวประมาณ 8-22 เมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะดินในพื้นที่ก่อสร้างนั้น ๆ โดยทางวิศวกรจะทำการเจาะสำรวจชั้นดินก่อนกำหนดความยาวเข็ม

        ในกรณีที่บ้านได้ลงเสาเข็มระยะความยาวเหมาะสม และลงเสาเข็มเท่า ๆ กันทั้งอาคาร เมื่อดินทรุดตัวลง ส่วนต่าง ๆ ของอาคารจะไม่มีผลกระทบใดครับ เจอเพียงปัญหาใต้อาคารเกิดโพรงดิน แต่หากเสาเข็มที่ใช้มีความยาวไม่เท่ากัน เช่น งานต่อเติมครัวไทย งานพื้นโรงจอดรถ งานต่อเติมเฉลียง มักเลือกใช้เสาเข็มที่สั้นกว่าเสาเข็มหลักของตัวบ้าน เมื่อดินมีการทรุดตัวลง จะทำให้พื้นที่ส่วนดังกล่าวทรุดตัวตามดิน จึงเป็นที่มาของตัวบ้านทรุดตามไปด้วย วิธีดังกล่าวสามารถป้องกันได้ตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง โดยให้ลงเสาเข็มระยะความยาวเท่ากับตัวบ้าน ซึ่งปัจจุบันโครงการบ้านสมัยใหม่ได้นำวิธีการดังกล่าวมาเป็นจุดขาย ช่วยลดปัญหาบ้านทรุดได้เป็นอย่างดีครับ



        อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาดินทรุดตัวจนเกิดเป็นโพรงใต้บ้านจะไม่ได้สร้างผลกระทบกับรากฐานและตัวบ้านจนเกิดอันตรายก็จริง แต่พื้นบ้านเป็นโพรงจะกลายเป็นพื้นที่รับน้ำท่วมขัง และเป็นที่อาศัยอย่างดีของสัตว์เลื้อยคลานมีพิษต่าง ๆ จึงควรแก้ไขด้วยปิดโพรงบ้าน

        ปัจจุบัน SCG มีบริการปิดโปรงใต้บ้าน Smart Space Covering แก้ไขปัญหาดินทรุดตัวเกิดช่องโหว่ โดยใช้แผ่นสมาร์ทบอร์ดหนา 10 มิลลิเมตร (สำหรับโพรงขนาดเล็ก ระดับพื้นดินทรุดจากท้องคานไม่เกิน 20 ซม.) และแผ่นคอนกรีตสำเร็จ (สำหรับโพรงขนาดใหญ่ ระดับพื้นดินทรุดจากท้องคานไม่เกิน 50 ซม)  หน้าที่เหมือนเป็นไม้แบบ และ ระบบคันดินแข็ง (Soil Stabilizer) ทำหน้าที่เป็นเหมือนแนวกำแพงปูนที่กั้นบริเวณด้านหน้าโพรงเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของพื้นดินบริเวณด้านหน้าโพรงรอบบ้าน

        รวมทั้งให้บริการสำรวจหน้างานด้วยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินระดับความลึกของโพรงใต้บ้านด้วยเครื่องมือทันสมัยสำรวจโพรงในจุดที่มองด้วยสายตาไม่เห็น พร้อมควบคุมงานโดยวิศวกรอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ทำให้บ้านกลับมาสวยงามน่าอยู่เหมือนเดิมมั่นใจได้ในระยะยาว



        นอกจากระบบปิดโพรงใต้บ้าน Smart Space Covering แล้ว เอสซีจี ยังมีบริการเติมเต็มโพรงใต้บ้าน FillGood Solution จาก CPAC ไว้ให้บริการสำหรับบ้านที่มีปัญหาโพรงใต้บ้าน เป็นการเติมเต็มโพรงด้วยวัสดุที่มีการออกแบบพิเศษ ไหลลื่นง่าย มีน้ำหนักเบา ช่วยเติมเต็มโพรงได้ดี ไม่ต้องซ่อมแซมบ่อยๆ และให้บริการด้วยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญและทีมงานมืออาชีพ

    ผู้ที่มีปัญหาโพรงใต้บ้าน สามารถขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินหาโซลูชันที่เหมาะสมกับบ้านคุณได้ ที่ SCG HOME Contact Center 02-586-2222 หรือร้าน SCG HOME SOLUTION และ SCG Experience สาขาใกล้บ้าน



แท็กที่เกี่ยวข้อง