วิธีตรวจรับหลังคาสำหรับเจ้าของบ้านมือใหม่
เคล็ดลับน่ารู้

วิธีตรวจรับหลังคาสำหรับเจ้าของบ้านมือใหม่

11.6K

14 พฤษภาคม 2567

วิธีตรวจรับหลังคาสำหรับเจ้าของบ้านมือใหม่




วิธีตรวจรับหลังคาสำหรับเจ้าของบ้านมือใหม่

การสร้างบ้านใหม่  เชื่อว่าเจ้าของบ้านทุกหลังมักต้องการให้บ้านออกมาดีที่สุดจึงตรวจเช็ครายละเอียดให้รอบคอบและดีที่สุด แต่จุดที่เจ้าของบ้านส่วนใหญ่มักจะละเลยหรืออยากตรวจเช็คแต่ไม่มีความรู้มากพอ คือหลังคา วันนี้มีข้อมูลดีดีเป็นเช็คลิสต์ให้เจ้าของบ้านตรวจสอบคุณภาพการมุงหลังคาเบื้องต้นด้วยตนเอง ให้แน่ใจก่อนรับมอบงานจากผู้รับเหมาหรือเจ้าของโครงการ

การตรวจรับงานหลังคาในเบื้องต้น สำหรับเจ้าของบ้านเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ไม่ยากนักและสิ่งที่เจ้าของบ้านควรทำถ่ายรูป  หรือจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานเก็บไว้ เพื่อเปรียบเทียบกับงานที่แก้ไขแล้วในภายหลัง โดยมีวิธีง่ายๆ ดังนี้

1.ควรศึกษารายละเอียดของงานหลังคา ที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ เช่น วัสดุมุงหลังคาเป็นอะไร  มีฉนวนกันความร้อนหรือไม่  ความชันของหลังคาเท่าไร รูปแบบของการติดตั้งเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถดูได้จากรายการประกอบแบบ ที่ระบุในแบบก่อสร้าง




2.สังเกตด้วยสายตา ว่ากระเบื้องมุงได้แนวระดับหรือไม่   ไม่แอ่นหรือยุบ  กระเบื้องแต่ละแผ่นติดตั้งเรียบร้อย ไม่เผยอออกมา  สีของกระเบื้องสม่ำเสมอ  ไม่ร้าว บิ่น  แตก หักเสียหาย  ไม่มีรอยคราบสกปรกของน้ำปูน  อุปกรณ์ยึดติดหลังคาอยู่ในสภาพดี ตลอดจนแนวฝ้าชายคาเรียบตรงขนานกับตัวบ้าน ไม่บิดเบี้ยวหรือแอ่นตัว  โดยเฉพาะหากเป็นฝ้าระแนงไม้ บริเวณรอยต่อเข้ามุมควรเสมอกันแผ่นต่อแผ่นอย่างเป็นระเบียบ

3.ตรวจเช็คตะเข้รางและช่วงรอยต่อบริเวณรางน้ำเชิงชาย เป็นอีกจุดที่ต้องสังเกตว่ามีลูกปูนไปติดหรือไม่ เนื่องจากจะขวางทางน้ำไหลทำให้หลังคารั่วได้ และอย่าลืมสังเกตแนวกระเบื้องบริเวณชายคาว่าได้ระดับ ไม่ตกหรือย้อยลง




4.ตรวจเช็คจุดเสี่ยง รอยต่อหลังคาบ้าน และจุดเสี่ยงบนผืนหลังคาบ้าน  โดยเฉพาะบริเวณครอบสันหลังคาและตะเข้สันซึ่งจะมี "ครอบ" เป็นตัวปิดรอยต่อระหว่างหลังคา 2 ผืน โดยหากเป็นระบบครอบหลังคาแบบเปียกที่ใช้ปูนยึดครอบกับกระเบื้อง  ควรตรวจดูสภาพของปูนยึดครอบว่ามีการเสื่อมสภาพของปูน มีรอยร้าว  แตก  หรือไม่ หรือหากเป็นระบบครอบหลังคาแบบแห้ง (Drytech System)  ควรสังเกตครอบกระเบื้องมุงได้แนวดี ไม่เห็นปลายแผ่นยางสีดำโผล่




5.ตรวจเช็คแนวรอยต่อกระเบื้องหลังคาชนผนัง ซึ่งปกติแล้วมักจะมีวัสดุครอบของกระเบื้องประเภทนั้นปิดไว้ แต่หากใช้ปูนปั้นหรือปีกนก ค.ส.ล.  ควรตรวจดูสภาพว่าไม่เกิดการแตกร้าว มีขนาดปีกที่ยื่นคลุมหลังคาเหมาะสม รวมถึงระยะห่างจากกระเบื้องไม่สูงจนเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อการรั่วซึมในภายหลังได้

6.หลังคาไร้รูป้องกันหนู นก แมลง การกันนก หนู แมลง ที่มารบกวนความสงบสุขของเรา ควรปิดช่องทางเข้าออกของสัตว์เหล่านี้  โดยเฉพาะบริเวณเชิงชาย ควรมีการติดตั้งแผ่นกันนกไม่ว่าจะเป็นแบบสำเร็จรูป หรือ ไม้ตัดตามรูปลอนกระเบื้องอย่างมิดชิด ปิดสนิทเรียบร้อย รวมถึงบริเวณชายคาภายนอกบ้านที่เป็นฝ้าระแนงไม้ตีเว้นร่อง หรือฝ้าแผ่นเรียบที่มีรูระบายอากาศ ควรสังเกตว่ามีการใส่มุ้งลวดกันแมลงหรือไม่




อย่างไรก็ตาม หลังคาที่มุงเรียบร้อยแล้ว  ถ้าจะต้องมีการแก้ไขนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย  ดังนั้นในการเลือกผู้รับเหมาหรือการซื้อบ้านกับโครงการ  ควรคำนึงถึงเรื่องการรับประกันผลงานเป็นสำคัญด้วย และถ้าเป็นไปได้ไม่ว่าจะเป็นบ้านในโครงการ หรือบ้านที่สร้างเอง ควรตรวจสอบงานหลังคาตั้งแต่ขั้นตอนการติดตั้งโครงหลังคา ซึ่งอาจต้องอาศัยบริการจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพราะถือเป็นเรื่องทางวิศวกรรมโครงสร้าง เพื่อให้ขั้นตอนการมุงหลังคาผ่านไปได้อย่างราบรื่น ปลอดภัย และเป็นการลดความเสี่ยงของปัญหาที่อาจจะตามมาทั้งเรื่องความเรียบร้อยสวยงาม ไม่รั่วซึม ดังที่ได้กล่าวไว้นั่นเอง

สำหรับลูกค้าที่จะสร้างบ้านใหม่ สามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับงานหลังคา จากการใช้บริการมุงหลังคาครบวงจร เอสซีจี โดยจะได้การรับประกันการติดตั้ง  สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-586-2222 หรือสามารถเข้าขอรับคำปรึกษาได้ที่ SCG Experience  หรือ SCG Home Solution  ทุกสาขาทั่วประเทศ

แท็กที่เกี่ยวข้อง