18.7K
3 พฤษภาคม 2567
"เคาน์เตอร์ครัวไทยควรเลือกใช้วัสดุเคาน์เตอร์ที่สามารถรับน้ำหนักได้ดี วัสดุกรุท็อปเคาน์เตอร์ต้องแกร่งและดูแลง่าย อีกทั้งเลือกวัสดุปิดผิวผนังเคาน์เตอร์ที่เข้ากับสไตล์การตกแต่ง"
ครัวไทย เป็นครัวสำหรับการทำอาหารวิถีไทย ที่มีการใช้งานทั้งตำ สับ ผัด โขลก ทอด เคาน์เตอร์ครัวจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการทำอาหารที่ควรมีความแข็งแรงทนทาน สามารถรองรับการใช้งานต่างๆ ได้ดี อีกทั้งควรทำความสะอาดได้ง่าย เมื่อเราคิดจะทำเคาน์เตอร์ครัวไทย นอกจากการออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานและลงตัวกับพื้นที่ที่มีแล้ว ยังมีเรื่องการเลือกวัสดุเคาน์เตอร์ วัสดุกรุท็อปเคาน์เตอร์ วัสดุปิดผิวโดยรอบอีกด้วย
วัสดุเคาน์เตอร์ครัวไทยต้องรับน้ำหนักได้ดี
เคาน์เตอร์ครัวประกอบด้วยส่วนผนังเคาน์เตอร์ ท็อปเคาน์เตอร์ และพื้นเคาน์เตอร์ สำหรับผนังเคาน์เตอร์ครัวไทยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมการก่ออิฐฉาบปูน โดยอิฐที่เลือกใช้ได้แก่ อิฐมอญ อิฐบล็อก อิฐมวลเบา หากเลือกใช้อิฐมอญจะมีน้ำหนักต่อตารางเมตรมากที่สุด และยังมีขนาดเล็กจึงใช้เวลาในการก่อมากกว่าอิฐบล็อกและอิฐมวลเบา ส่งผลต่อค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สามารถเลือกก่ออิฐมอญโชว์แนวตามสไตล์การตกแต่งที่ต้องการได้ ส่วนอิฐบล็อกซึ่งถึงแม้จะประหยัดงบประมาณมากที่สุด และใช้ระยะเวลาในการก่อเร็วพอๆ กับอิฐมวลเบา แต่เนื่องจากมีรูกลวงตรงกลางจึงไม่แข็งแรงเท่าอิฐมอญและอิฐมวลเบา และไม่เหมาะสำหรับการเจาะยึดแขวนชั้นวางของ มักพบในกรณีทำเคาน์เตอร์โปร่งไม่มีหน้าบานตู้หรือลิ้นชัก ส่วนอิฐมวลเบาควรเลือกใช้อิฐมวลเบาที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้ความแข็งแรงเทียบเท่าอิฐมอญ โดยที่สามารถก่อได้เร็วและเนี้ยบง่ายกว่าการก่ออิฐมอญ
ท็อปเคาน์เตอร์ด้านบนมักจะเป็นการหล่อชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กตามแบบที่ต้องการ โดยเว้นช่องสำหรับติดตั้งเตาและอ่างล้างจานตามขนาด สามารถทำได้ 2 แนวทาง แนวทางแรกคือเตรียมเหล็กเสริมยื่นออกมาจากผนังตามระยะที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกก่อนการก่อส่วนผนัง แล้วหล่อคอนกรีตเคาน์เตอร์เชื่อมกับเหล็กเสริมดังกล่าว โดยมีผนังเคาน์เตอร์ช่วยรับแรง อีกแนวทางคือหล่อเคาน์เตอร์ตามแบบ รอจนคอนกรีตเซตตัวจึงค่อยยกมาติดตั้งบนผนังเคาน์เตอร์ที่ทำไว้แล้ว ผนังเคาน์เตอร์จะทำหน้าที่รับน้ำหนักแผ่นท็อปเคาน์เตอร์โดยตรง
พื้นเคาน์เตอร์ควรสูงกว่าระดับพื้นบ้านประมาณ 10 ซม. แนวทางที่ทำได้สำหรับผนังก่ออิฐ เช่น เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือใช้อิฐมวลเบาหนา 7.5 ซม. วางตามนอน วางตะแกรงเหล็ก (Wire Mesh) แล้วจึงเทคอนกรีตทับ
นอกจากการเลือกใช้วัสดุอิฐก่อกับแผ่นเคาน์เตอร์หล่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กแล้ว ปัจจุบันมีแผ่นเคาน์เตอร์สำเร็จรูปที่มีชิ้นส่วนต่าง ๆ ประกอบกัน อย่างเช่น แผ่นเคาน์เตอร์มวลเบาสำเร็จรูปซึ่งผลิตจากคอนกรีตมวลเบาที่มีการเสริมเหล็กไว้ภายใน มีขนาดมาตรฐานให้เลือกใช้งาน โดยแบ่งออกเป็น ชิ้นส่วนบน (มีให้เลือกทั้งสำหรับเคาน์เตอร์ปกติ เคาน์เตอร์สำหรับติดตั้งเตา และเคาน์เตอร์สำหรับอ่างล้างจาน) ชิ้นส่วนด้านข้าง (ส่วนผนังหรือขาตั้ง) และชิ้นส่วนล่าง (ส่วนพื้น) จึงสามารถติดตั้งง่าย สะดวก รวดเร็ว เพราะไม่ต้องก่ออิฐหรือหล่อคอนกรีตที่หน้างาน
วัสดุกรุท็อปเคาน์เตอร์ต้องแกร่ง ดูแลง่าย
วัสดุปิดผิวท็อปเคาน์เตอร์ครัวมีให้เลือกหลากหลาย เช่น ไม้จริง ไม้อัดที่กรุด้วยลามิเนต หินธรรมชาติ (หินแกรนิต หินอ่อน) หินเทียม สเตนเลส ฯลฯ แต่สำหรับวัสดุที่เหมาะสำหรับท็อปเคาน์เตอร์ครัวไทย ซึ่งมักพิจารณาเรื่องคุณสมบัติที่เหมาะกับการใช้งานควบคู่กับงบประมาณเป็นสำคัญ แนะนำให้เลือกใช้เป็น หินแกรนิต หินเทียม และกระเบื้องเซรามิก
สำหรับหินแกรนิตเป็นวัสดุที่ราคาไม่สูงมาก หาซื้อได้ง่าย มีสีและลวดลายตามธรรมชาติ มีความแข็งแกร่งสูง แต่ยังคงดูดซึมน้ำได้ดี มีรูพรุน จึงเป็นที่มาของการสะสมเชื้อโรค เชื้อรา หรือตะไคร่ได้ง่าย ดังนั้น หากเลือกใช้หินแกรนิตควรทาด้วยน้ำยาเคลือบผิวให้ทั่วทุกด้านของแผ่นหินก่อนนำไปติดตั้ง ส่วนหินเทียมจะมีให้เลือกใช้หลายประเภท เช่น แบบที่เป็นอะคริลิก 100% หรือ อะคริลิกผสมโพลิเมอร์ ซึ่งไม่ดูดซึมน้ำ และสามารถดูแลทำความสะอาดได้ง่าย แต่ต้องระวังเรื่องความร้อนจากภาชนะใส่อาหารจะทำให้พื้นผิวเสียหายได้ง่าย จึงควรเตรียมที่วางของร้อนไว้ หรือปรึกษากับผู้ผลิตให้ออกแบบพื้นที่วางของร้อนโดยเฉพาะ สำหรับกระเบื้องเซรามิก ปัจจุบันมีหลายขนาดให้เลือกใช้ ซึ่งนอกจากกระเบื้องที่มีขนาดและความหนาปกติแล้ว ยังมีกระเบื้องขนาดใหญ่พิเศษที่ความหนาเหมือนหินธรรมชาติด้วย มีข้อดีเรื่องการดูดซึมน้ำต่ำ ทำความสะอาดได้ง่าย แต่หากมีรอยต่อระหว่างแผ่น จะต้องหมั่นดูแลร่องยาแนวอย่างสม่ำเสมอ
เลือกวัสดุปิดผิวผนังเคาน์เตอร์ให้เข้ากับสไตล์การตกแต่ง
ก่อนปิดผิวผนังเคาน์เตอร์ด้วยวัสดุตกแต่งต่างๆ ควรมีการเตรียมพื้นผิวให้เรียบร้อยทั้งด้านในและด้านนอกผนังเคาน์เตอร์เช่นเดียวกับการเตรียมพื้นผิวผนังก่อนติดตั้งวัสดุตกแต่ง ซึ่งวัสดุปิดผิวผนังเคาน์เตอร์ครัวไทยที่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่นิยมเลือกใช้กระเบื้องเซรามิก ปูนขัดมัน และลามิเนต
สำหรับการปิดผิวด้วยกระเบื้องเซรามิกนั้นมีข้อดีคือมีขนาด ผิวสัมผัส สีสัน และลวดลายให้เลือกหลากหลาย เหมาะกับทุกสไตล์การตกแต่ง โดยหากเป็นผิวมันวาวจะดูแลทำความสะอาดง่าย ส่วนการตกแต่งพื้นผิวด้วยปูนขัดมันที่เหมาะกับการตกแต่งบ้านในสไตล์ลอฟต์ ซึ่งลวดลายที่สวยงาม ไม่แตกร้าวต้องอาศัยฝีมือช่างผู้เชี่ยวชาญ แต่บางกรณีอาจมีผงปูนหลุดล่อนออกมาได้ แนะนำให้ทาด้วยน้ำยาเคลือบผิวให้ทั่วถึง หากเลือกใช้ลามิเนตในการปิดผิวที่เคาน์เตอร์ครัวไทย พื้นผิวปูนฉาบจะต้องเรียบสม่ำเสมอ ได้ระดับดิ่งฉาก เมื่อติดตั้งลามิเนตซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นบาง (ด้วยกาว) จะได้เรียบร้อย ไม่กระเดิดหรือมีตะปุ่มตะป่ำ ลามิเนตมีสีสัน ลวดลาย และผิวสัมผัสให้เลือกใช้มากมายจึงเข้าได้กับทุกสไตล์ อย่างไรก็ตาม ลามิเนตมีโอกาสหลุดล่อนได้ง่ายหากต้องสัมผัสความชื้นเป็นประจำ ขณะใช้งานจึงต้องระวังและมีการดูแลรักษาอย่างดี
นอกจากการเลือกใช้วัสดุเคาน์ตอร์ วัสดุกรุท็อปเคาน์เตอร์ และวัสดุปิดผิวผนังเคาน์เตอร์ให้สวยงามและตอบโจทย์แล้ว ยังมีหน้าบานตู้หรือลิ้นชัก และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ที่ควรเลือกให้เข้ากับสไตล์โดยรวมของเคาน์เตอร์และเหมาะสมกับการใช้งาน