48.1K
5 พฤษภาคม 2567
"แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์กับแผ่นไม้อัดซีเมนต์ ต่างก็เป็นวัสดุประเภทซีเมนต์บอร์ดทั้งคู่ แต่จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันซึ่งเจ้าของบ้านควรทราบเพื่อจะได้เลือกใช้งานได้เหมาะสม"
หากพูดถึงวัสดุแผ่นที่ใช้เป็นส่วนประกอบในบ้าน เช่น ฝ้าเพดาน ผนัง แผ่นปูพื้น เรามักคุ้นเคยกับแผ่นไม้อัดและแผ่นยิปซัม แต่ในท้องตลาดก็ยังมีวัสดุแผ่นอีกชนิดซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ “ซีเมนต์บอร์ด” ทั้งแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ และแผ่นไม้อัดซีเมนต์
รู้จักกับแผ่นซีเมนต์บอร์ด
ส่วนผสมของแผ่นซีเมนต์บอร์ดประกอบด้วย “ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์” (ซึ่งเป็นวัสดุที่แข็งแรงแต่เปราะหักง่ายหากรีดเป็นแผ่นบาง) ผสมกับวัสดุอื่นที่มีความเหนียวยืดหยุ่นแล้วอัดด้วยแรงดันสูงเป็นแผ่น ทำให้ได้วัสดุที่แข็งแรง มีความยืดหยุ่นในตัว ปลวกไม่กิน และทนความเปียกชื้นได้พอสมควร วัสดุที่นำมาผสมกับปูนซีเมนต์จะเป็นตัวกำหนดชนิดของซีเมนต์บอร์ด หากเป็นเส้นใยเซลลูโลสจากต้นไม้ผนวกกับทรายซิลิกา จะเรียกว่า “แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์” (Fiber Cement Board) แต่ถ้าเป็นชิ้นไม้จะเรียกว่า “แผ่นไม้อัดซีเมนต์” (Wood Cement Board หรือ Cement Bonded Particle Board)
แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์กับแผ่นไม้อัดซีเมนต์ ต่างกันอย่างไร
วัสดุทั้งสองเป็นแผ่นซีเมนต์บอร์ดที่มีคุณสมบัติบางอย่างคล้ายกัน คือสามารถใช้ทำพื้น ผนังเบา ฝ้าเพดาน ทั้งภายในและภายนอก รวมถึงใช้เป็นวัสดุรองใต้หลังคาได้ ทั้งยังนำความร้อนต่ำจึงเหมาะกับใช้สร้างบ้านประหยัดพลังงาน อย่างไรก็ตาม วัสดุทั้งสองยังมีคุณสมบัติต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย เนื่องมาจากวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิต
“แผ่นไม้อัดซีเมนต์” ผลิตจากซีเมนต์ผสมชิ้นไม้ย่อยแล้วอัดให้แน่นเป็นแผ่น โดยไส้ในจะเน้นความแข็งแรงในขณะที่ผิวนอกจะเน้นความเรียบเนียน ส่วน “แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์” ผลิตจากซีเมนต์ผสมกับเส้นใยเซลลูโลสและซิลิกา ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สร้างความเหนียวแข็งแรงผนวกกับเทคนิคการอัดพิเศษทำให้ได้วัสดุแผ่นบาง หากนำขอบรอยตัดมาเทียบกันแล้วจะเห็นว่าแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ดูเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนแผ่นไม้อัดซีเมนต์จะมองเห็นความต่างระหว่างไส้ในกับบริเวณผิวนอก
ด้วยส่วนประกอบที่เป็นเส้นใยเซลลูโลส ทำให้ไฟเบอร์ซีเมนต์มีความบางและน้ำหนักเบากว่าไม้อัดซีเมนต์ (ซึ่งผลิตจากชิ้นไม้ย่อย) โดยเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับการใช้งานในลักษณะเดียวกัน เช่น แผ่นฝ้าเพดานไฟเบอร์ซีเมนต์มีความหนาเพียง 3.5-4.0 มม. แต่ถ้าเป็นไม้อัดซีเมนต์จะหนาถึง 8.0 มม. ทำให้ต้องคำนึงเรื่องโครงคร่าวรับฝ้าเพดานที่แข็งแรงเป็นพิเศษ และอาจต้องระวังเรื่องการเกิดรอยร้าวบริเวณหัวสกรูด้วย สำหรับกรณีติดตั้งเป็นพื้นจะใช้แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ความหนา 16 หรือ18 มม. ในขณะที่ไม้อัดซีเมนต์จะหนาถึง 20-24 มม. จึงต้องเตรียมโครงสร้างที่รับน้ำหนักได้มากกว่า เป็นต้น
ลูกเล่นที่แตกต่าง
แผ่นไม้อัดซีเมนต์ไม่สามารถดัดโค้งได้ แต่แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์สามารถทำได้เนื่องจากความยาวและเหนียวของเส้นใยเซลลูโลสที่เป็นส่วนประกอบ โดยมีรัศมีของการดัดโค้งจะขึ้นอยู่กับความหนาที่ใช้ แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์มีหลากหลายผิวหน้าให้เลือก โดยนอกจากแผ่นเรียบธรรมดาแล้วยังมีแบบที่ผิวหน้าเป็นลายเซาะร่อง ลายไม้ บางรุ่นทำสีมาจากโรงงานเรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีรุ่นที่เจาะรูระบายอากาศซึ่งเหมาะกับใช้งานเป็นฝ้าเพดานเชิงชายด้วย ในขณะเดียวกันไม้อัดซีเมนต์เองแม้จะได้เปรียบเรื่องผิวหน้าที่สวยงามเรียบเนียนกว่า แต่ก็ยังมีรุ่นที่ทำเป็นลวดลาย เช่น ลายไม้ ลายหิน ให้เลือกใช้ด้วยเช่นกัน
แต่งเสริม เติมสวย บนพื้นผิว
สำหรับรุ่นที่เป็นผิวเรียบธรรมดา หากเลือกโชว์พื้นผิวควรเคลือบน้ำยาทับเพื่อความคงทน โดยเฉพาะกรณีที่ใช้งานภายนอกจะต้องใช้วัสดุอุดรอยต่อเว้นร่องเพื่อป้องกันความชื้น ทั้งนี้แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์และไม้อัดซีเมนต์สามารถเลือกตกแต่งผิวได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฉาบปูน ทาสี ปูวัสดุอื่นทับ โดยอาจมีเทคนิคเฉพาะที่ควรทราบจากผู้ผลิตก่อนติดตั้ง เช่น การปูกระเบื้องบนแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์จะต้องปูทับด้านที่ขรุขระมากกว่า เป็นต้น
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า พื้นผิวของแผ่นไม้อัดซีเมนต์นั้นเรียบเนียนสวยงามทั้งยังมีสีเทาคล้ายปูนเปลือยจึงเป็นที่นิยมใช้งานแบบโชว์พื้นผิว ส่วนแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์นั้นโดยธรรมชาติของพื้นผิวจะสวยงามไม่เท่าไม้อัดซีเมนต์ หากต้องการความสวยงามแบบปูนเปลือยอาจใช้ปูนฉาบแต่งผิวบางสีเทาแทน ทั้งนี้ไฟเบอร์ซีเมนต์สามารถติดตั้งแบบฉาบเรียบได้ โดยเลือกใช้รุ่นที่มีลักษณะขอบแบบลาด ฉาบทับด้วยวัสดุฉาบและเทปผ้า แต่ด้วยพื้นผิวที่มีความขรุขระเล็กน้อยเมื่อฉาบแล้วจึงอาจไม่เรียบเนียนนัก
จากที่ได้เล่าถึงคุณสมบัติของแผ่นซีเมนต์บอร์ดทั้งสองนั้น เจ้าของบ้านคงจะเข้าใจถึงความแตกต่างของวัสดุและสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ทั้งนี้ แผ่นไม้อัดซีเมนต์และแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ยังมีข้อดีเรื่องความปลอดภัยซึ่งไม่ควรมองข้ามคือ คุณสมบัติของตัววัสดุที่ไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟ รวมถึงไม่มีส่วนผสมของใยหินจึงไม่เป็นพิษและไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง นับได้ว่าเป็นอีกวัสดุที่น่าสนใจมิใช้น้อยสำหรับนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของบ้าน