5.3K
10 พฤษภาคม 2567
"การออกแบบ ปรับเปลี่ยนและการเลือกใช้วัสดุ เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการต่างๆให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่ภายในบ้านได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข"
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเราต้องอยู่อาศัยร่วมกับคนในครอบครัว และหนึ่งในสมาชิกในบ้านนั้นก็มีผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลมากกว่าคนในวัยอื่นๆ ทั้งทางสภาพร่างกายและจิตใจ ทางจิตใจเราสามารถดูแลท่านโดยการให้ความรักความเอาใจใส่ ชวนพูดคุยไม่ให้ท่านเหงา ส่วนความต้องการทางร่างกายนั้นสามารถทำได้ไม่ยาก โดยอาศัยการออกแบบหรือปรับเปลี่ยนบางส่วนรวมถึงการเลือกใช้วัสดุ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ ให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ภายในบ้านได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข ดังนี้
2. โต๊ะสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น สำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น โต๊ะและอุปกรณ์ต่างๆ ควรเอื้ออำนวยต่อการใช้งานด้วย โดยความสูงของโต๊ะสำหรับการใช้งานของผู้ใช้รถเข็นนั้น ต้องลดะะดับลงมาจากความสูงของโต๊ะปกติเล็กน้อย หน้าโต๊ะควรสูงประมาณ 75 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่ใต้โต๊ะควรมีความสูงไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ไม่ควรมีลิ้นชัก และมีความลึกมากกว่า 40 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข็นรถเข้าไปใช้งานได้สะดวกนั่นเอง
3. ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือ Emergency Call Bell ไว้บริเวณห้องนอน หัวเตียง ในห้องน้ำ หรือแม้กระทั้งห้องนั่งเล่น และเชื่อมต่อไปยังกริ่งส่งเสียงเตือนที่ติดตั้งในทุกๆ จุดของบ้าน เพื่อให้เวลาที่เราไม่ได้อยู่ใกล้ผู้สูงอายุ เราก็ยังสามารถได้ยินเสียงกริ่งเมื่อมีการขอความช่วยเหลือ ปัจจุบันมีระบบที่ทันสมัยขึ้น เชื่อมต่อผ่านอินเตอร์เน็ทและส่งสัญญาณมายังโทรศัพท์ของเราได้ด้วย รวมถึงติดเครื่องตรวจจับไฟไหม้หรือจับควัน เพราะผู้สูงอายุมีความคล่องตัวน้อย หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน จะได้เข้าไปให้การช่วยเหลือได้ทันการณ์
4. ความสม่ำเสมอของแสงสว่าง เพราะผู้สูงอายุนั้นจะมีสายตาที่ตอบรับกับแสงสว่างช้ากว่าคนหนุ่มสาว การปรับสายตาระหว่างพื้นที่สว่างกับพื้นที่มืดจึงเป็นไปได้ไม่ดีนัก ฉะนั้นภายในบ้านควรมีแสงสว่างที่สม่ำเสมอ กล่าวคือ ระหว่างห้อง ระหว่างภายในและภายนอก ควรมีการให้ความสว่างที่ใกล้เคียงกัน และค่อยๆ ปรับความสว่างเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานได้อย่างปลอดภัย
5. ประตูต้องกว้างกว่าปกติ บานประตูทั่วไปจะมีความกว้างอยู่ที่ประมาณ 70 เซนติเมตร แต่สำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุและใช้รถเข็น บานประตูต้องมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร
6. ประตูบานเลื่อนสะดวกกว่า นอกจากประตูบานเลื่อนจะประหยัดพื้นที่ในการใช้งานมากกว่าบานเปิดแล้ว สำหรับผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่บนรถเข็นหรือไม่ จะสามารถเปิดประตูบานเลื่อนได้สะดวกและปลอดภัยกว่า
7. ติดตั้งราวจับ ควรต้องติดราวจับในระดับ 80 – 90 เซนติเมตร ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงโถส้วมหรือจุดอาบน้ำ เพื่อให้ยึดจับแทนการไปจับหรือเหนี่ยวอุปกรณ์สุขภัณฑ์ต่างๆ เช่น อ่างล้างหน้า ราวแขนผ้า ที่ใส่สบู่ หรือโถส้วมเพราะสุขภัณฑ์เหล่านี้อาจหลุดออกมาและเป็นอันตรายได้ โดยตัวราวจับและสกรูยึดติดผนัง ก็ควรที่จะต้องรับน้ำหนักเหนี่ยวตัวลุกยืนได้สูงเช่นกัน
8. สวิตช์ไฟต้องใหญ่ชัดเจน ลักษณะของสวิตช์ไฟที่ควรจะเป็นคือต้องมีขนาดใหญ่ ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน มีสีขาวและเรืองแสงได้ในที่มืด ตำแหน่งอยู่สูงจากพื้นในระยะที่ผู้ที่นั่งรถเข็นสามารถใช้งานได้สะดวก อีกทั้งควรรวมแผงสวิตช์พัดลม แอร์ หรือระบบต่างๆ ไว้ในตำแหน่งเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น ที่หัวเตียง เป็นต้น
9. หลีกเลี่ยงพื้นต่างระดับ แน่นอนว่าพื้นต่างระดับ ทำความลำบากกับผู้สูงอายุทั้งการเดินและการใช้รถเข็น หากจำเป็นต้องทำพื้นที่ต่างระดับ ต้องทำทางลาดควบคู่กันไปในทุกตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนระดับ ความลาดชันของทางลาดต้องไม่เกิน 1 : 12 ตัวอย่างเช่น พื้นต่างระดับ 1 เมตร ต้องมีทางลาดยาว 12 เมตร เป็นต้น
10. เก้าอี้ทุกตัวควรมีที่พักหรือที่ท้าวแขน เพราะนอกจากจะสร้างความสบายในการนั่งของผู้สูงอายุแล้ว ในเวลาที่ต้องการจะยืน ที่พักแขนนี้จะเป็นส่วนช่วยพยุงให้ผู้สูงอายุสามารถยืนได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด ความรักและความเอาใจใส่จะช่วยให้ท่านมีความสุขและแข็งแรง