40K
5 พฤษภาคม 2567
การจัดสวนหน้าบ้านให้สวยครบทุกองค์ประกอบ แผ่นทางเดินในสวนก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้ที่นั่งในมุมสวน เพราะฟังก์ชั่นหลักๆ ของทางเดินนั้น มีความหมายในตัวที่จะเป็นส่วนซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับเดินชมสวน เชื่อมพื้นที่จากส่วนหนึ่งไปยังส่วนหนึ่ง
หากถามว่าแล้วทำไมถึงต้องสร้างทางเดินในพื้นที่สวน คำตอบก็ไม่ยาก เนื่องด้วยพื้นที่สวนนั้นจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีทางเดินเพื่อสร้างขอบเขตให้สวน พูดง่ายๆ คือต้องมีส่วนสำหรับเดินชม เดินรอบ หรือเดินไปสู่จุดเด่นของมุมสวนในบ้าน
ทางเดินในสวนถูกจัดแบ่งให้เป็นส่วน Hardscape ในการออกแบบภูมิสถาปัตย์ เป็นเหมือนสิ่งจำเป็นต้องมี วัสดุ ดีไซน์ รวมทั้งการตกแต่งให้ดูดีชวนมองจึงเป็นเรื่องสำคัญควบคู่กับการใช้งานที่คงทน
1. ทางเดินควรอยู่ตรงไหน ตำแหน่งที่เป็นทางเดินในสวนนั้น ควรอยู่ในตำแหน่งที่เชื่อมการใช้งานจากในบ้านสู่นอกบ้าน หรือนอกบ้านสู่ในบ้าน หรือจะเป็นพื้นที่รอบๆ สำหรับเดินวนทั่วโดยรอบอาคาร
จังหวะการก้าวเดินก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรเลือกวางแผ่นทางเดินขนาด 50-60 เซนติเมตรสำหรับเดินคนเดียว 80-100 เซนติเมตรในกรณีที่เดิน 2 คน และวางในระยะห่าง 30-50 เซนติเมตร (วัดจากศูนย์กลางแผ่นทางเดิน)
ระยะที่ว่านี้เป็นสัดส่วนที่พอดีสำหรับการก้าว หรือควรลองเดินให้พอดีกับจังหวะการก้าวเดิน เพื่อเดินง่าย ก้าวเท้าได้สบาย ให้การเดินในสวนเป็นไปอย่างสุนทรีย์
2. เลือกแผ่นทางเดิน แผ่นทางเดินที่นิยมกันในท้องตลาดนั้นแบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่ๆ ด้วยกัน คือแผ่นทางเดินจากธรรมชาติและแผ่นทางเดินซีเมนต์ ดีไซน์หลากหลายให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับคุณสมบัติของแต่ละวัสดุที่มีความต่างไม้แพ้กัน
แผ่นทางเดินจากธรรมชาติ ได้แก่ แผ่นศิลาแลง หินภูเขาเมืองกาญจน์ หินทราย ไม้หมอน ซึ่งแผ่นทางเดินจากธรรมชาติเหล่านี้มักจะอยู่ในงานดีไซน์สวนแบบทรอปิคัล สวนป่าดิบชื้น ด้วยคุณสมบัติที่สามารถกักเก็บความชื้นได้นาน ทำให้พื้นที่สวนมีความชุ่มชื่นร่มเย็นด้วย แต่ข้อด้อยของแผ่นหินธรรมชาติก็คือรูปทรงและลวดลายที่แต่ละแผ่นจะแตกต่างกันไป รวมทั้งผิวสัมผัสที่กร่อนจนคมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และอายุการใช้งานของแผ่นหินบางชนิดที่จะสึกกร่อนตามธรรมชาติ
แผ่นทางเดินสำเร็จรูป ได้แก่ แผ่นทางเดินซีเมนต์ และแผ่นหินสังเคราะห์ ซึ่งวัสดุเหล่านี้ผ่านกระบวนการขึ้นรูปด้วยระบบอุตสาหกรรม สัดส่วนจึงเป็นขนาดมาตรฐานหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 20 x 20 และ 40x40 เซนติเมตรขึ้นไป ขนาดที่พอดีนี้ทำให้สามารถคำนวณจำนวนที่ต้องใช้ได้อย่างแม่นยำ ง่ายต่อการจัดวาง รวมทั้งความคงทนแข็งแรง
ปัจจุบันแผ่นทางเดินสำเร็จรูปเป็นที่นิยมนำมาใช้เป็นอย่างมาก ด้วยการผลิตที่รวดเร็วและมีจำหน่ายอยู่ทั่วไป ทั้งในรูปแบบสวนวินเทจและสวนโมเดิร์น รวมทั้งสามารถสร้างลวดลายต่างๆ ลงบนแผ่นทางเดินได้ด้วย
3. ระหว่างแผ่นทางเดิน เพื่อความสวยงาม ช่องว่างระหว่างแผ่นทางเดินจึงมักจะถูกประดับตกแต่งด้วยวัสดุและพืชพรรณต่างๆ เพิ่มความสวยงามไม่ว่าจะเป็น
หากอยากเลือกปลูกพืชสลับกับแผ่นทางเดินแล้วไม่ควรลืมว่าพืชชนิดนั้นจะต้องดูแลง่าย ทนต่อการเหยียบย่ำ สามารถทนฝนได้ดีและสามารถระบายน้ำขังลงสู่ดินได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีหนามแหลมที่จะทำให้เกิดอันตรายระหว่างก้าวเดิน
ข้อดีของการเลือกต้นไม้ปลูกสลับก็เห็นจะเป็นเรื่องความสวยงามที่จะช่วยดึงความแข็งกระด้างของแผ่นทางเดินให้พื้นที่ดูนุ่มนวลขึ้น แต่หากเลือกโรยก้อนกรวด หินแกลบเม็ดเล็ก ก็จะดีตรงที่ไม่ต้องดูแลรักษาให้วุ่นวาย
4. สองข้างทางก็ควรคิด ความโปร่งโล่งยังเป็นเรื่องสำคัญ หากเลือกได้ต้นไม้ที่ปลูกประดับสองข้างทางเดินควรสูงไม่เกินระดับสายตา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย หากเป็นต้นไม้ใหญ่ควรตัดกิ่งให้พ้นระดับศีรษะเพื่อความปลอดภัย และไม่ควรเลือกต้นไม้ที่มีหนาม มียาง หรือมีขน ที่จะก่อให้เกิดการระคายเคืองเมื่อสัมผัส
สำหรับบางท่านก็ที่ชอบซุ้มไม้เลื้อยอย่างสร้อยอินทนิล พวงคราม พวงชมพู เล็บมือนาง ก็สามารถสร้างทางเดินลอดซุ้มรอบๆ สวนได้ หากแต่ต้องระวังสัตว์เลื้อยคลานอย่างงูเขียวที่จะชอบมาอาศัยเพียงเท่านั้น
5. ขั้นตอนง่ายๆ ในการปูแผ่นทางเดิน สิ่งที่ทางเดินในสวนต้องมีนอกเหนือจากความปลอดภัยและความสวยงามก็คือ การระบายน้ำลงดินอย่างรวดเร็ว การปูแผ่นทางเดินในสวนส่วนใหญ่จึงไม่นิยมราดซีเมนต์เป็นทางยาวเพราะนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดความสวยงามแล้วยังก่อให้เกิดเป็นแอ่งน้ำท่วมขังด้วย
สำหรับวิธีปูทางเดินในสวนนั้นมีขั้นต้อนง่ายๆ ดังนี้
1. ปรับหน้าดินให้เรียบเป็นทางเดินยาวในแบบที่ต้องการ
2. ใช้ทรายรองหน้าดินอีกชั้นเพื่อให้ระบายน้ำลงสู่ดินได้อย่างรวดเร็ว หรืออาจจะให้เทคนิคอื่นๆ เข้าช่วยอาทิ ปูตาข่ายพลาสติก หรือจะเทซีเมนต์เจาะรูระบายน้ำให้ทั่วก็จะมีความคงทนยิ่งขึ้น
3. วางแผ่นทางเดินตามระยะที่กำหนดไว้จากนั้นก็ตกแต่งรอบๆ ทางเดินตามที่ออกแบบไว้