5.2K
27 พฤษภาคม 2567
"อีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยประหยัดพลังงานในบ้าน คือ การแยกครัวไทยออกจากตัวบ้าน"
ครัวไทย เป็นครัวที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน แทบจะเรียกได้ว่ามีกันทุกบ้าน เพราะสามารถประกอบอาหารหนักๆ เพื่อให้ได้อาหารจานโปรดของใครหลายคน แต่แน่นอนว่า การประกอบอาหารแบบไทยๆ ทำให้เกิดความร้อน กลิ่น และละอองน้ำมันสะสมอยู่เป็นปริมาณมากด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกเหนือจากจะต้องมีการระบายอากาศที่ดีแล้ว ยังควรคำนึงถึงการป้องกันความร้อนอีกด้วย เพราะ ความร้อนที่เกิดขึ้นในห้องครัวไทยนี้จะถูกสะสมและสามารถถ่ายเทไปยังพื้นที่ใกล้เคียงโดยเฉพาะห้องที่ติดกัน หรือห้องที่มีช่องเปิดถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ในลักษณะสะพานความร้อน (Thermal Bridge) หากห้องที่ติดกันเป็นห้องปรับอากาศด้วยแล้ว เครื่องปรับอากาศจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ห้องนั้นเย็นสบายตามอุณหภูมิที่เราตั้งค่าเอาไว้ ซึ่งเป็นการใช้พลังงานที่มากขึ้นและตามมาด้วยค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ภาพ: ครัวไทยที่ต้องมีความทนทาน สามารถรองรับแรงกระแทกและการทำอาหารที่หนักได้
ขอขอบคุณภาพ:www.pexels.com
ภาพ: การทำอาหารในครัวไทย ทำให้เกิดความร้อน กลิ่น และละอองน้ำมันสะสมอยู่เป็นปริมาณมาก
ขอขอบคุณภาพ:www.pexels.com
สำหรับใครที่ตั้งใจจะทำบ้านประหยัดพลังงานหรือบ้านที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ก็ควรออกแบบให้ห้องครัวไทยแยกออกมาจากตัวบ้าน เพื่อให้สามารถทำอาหารได้ทุกเมนูตามที่เราต้องการโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อน ห่างไกลจากกลิ่นรบกวน อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นจากอัคคีภัย
ภาพ: ออกแบบครัวไทยให้แยกจากตัวบ้าน เพื่อลดความร้อนและกลิ่นที่จะเข้ามาภายในบ้าน
อย่างไรก็ตาม
หากบ้านมีขนาดพื้นที่ดินจำกัด จำเป็นต้องก่อสร้างครัวไทยให้ติดกับตัวบ้าน สามารถ
ติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติมที่ผนังระหว่างห้องครัวกับตัวบ้าน รวมทั้งเลือกประเภทประตูที่สามารถปิดได้แนบสนิท เพื่อลดความร้อนที่จะส่งไปยังพื้นที่อื่นๆ ภายในบ้านได้ขณะประกอบอาหาร นอกจากนี้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝัน สามารถทำ "ผนังทนไฟ" บริเวณผนังด้านที่ติดกับส่วนอื่นๆ ในบ้าน
* ตำแหน่งห้องครัวไทย ไม่ควรอยู่ต้นลม
ภาพ: ครัวไทยที่ติดกับตัวบ้าน ควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติมที่ผนังระหว่างห้องครัวกับตัวบ้าน หรือทำเป็นผนังทนไฟตั้งแต่แรก
** Tips: การทำผนังทนไฟ มีดังนี้
1. ติดตั้งระบบผนังโครงเบา (แผ่นสมาร์ทบอร์ดความหนา 12 มม. บนโครงคร่าวทั้ง 2 ด้าน ด้านละ 2 แผ่น) ร่วมกับกรุตรงกลางด้วยฉนวนกันความร้อน เอสซีจี รุ่น HTI จะทนไฟได้นาน 105 นาที หากกรุด้วยฉนวนกันไฟรุ่น Rockwool (Density 100 กก./ลบ.ม.) จะสามารถทนไฟได้นาน 150 นาที
2. ผนังอิฐมอญ สำหรับผนังก่ออิฐฉาบปูนแบบครึ่งแผ่น (ผนังหนาประมาณ 10 ซม.) สามารถทนไฟได้นาน 60 นาที หากเลือกใช้ผนังก่ออิฐฉาบปูนแบบเต็มแผ่น (ผนังหนาประมาณ 15-20 ซม.) จะทนไฟได้นาน 120 นาที
3. ผนังอิฐมวลเบา (อิฐมวลเบาความหนา 7.5 ซม.) ฉาบปูนสองด้านให้มีความหนารวม 10 ซม. จะสามารถทนไฟได้นาน 240 นาที
***ฉนวนกันไฟ Rockwool ไม่ใช่สินค้าของเอสซีจี
ขอขอบคุณแหล่งที่มาจาก
20 แม่ไม้สำคัญ ในการเลือกซื้อบ้านประหยัดพลังงาน, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร