ออกแบบบ้านผู้สูงอายุอย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัย
ไอเดียแต่งบ้าน

ออกแบบบ้านผู้สูงอายุอย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัย

16.7K

13 พฤษภาคม 2567

ออกแบบบ้านผู้สูงอายุอย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัย

       การออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ต้องใส่ใจตั้งแต่โครงสร้าง การจัดวางหรือติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการลื่นล้มและอุบัติเหตุต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวก และปลอดภัย การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยและใช้งานง่ายก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งควรคำนึงถึงสภาวะการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหวร่างกาย และความไม่สมดุลของฮอร์โมนและอารมณ์ เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายและสะดวกขึ้น ทั้งส่งเสริมสุขภาวะที่ดี และที่สำคัญ คือ ช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการล้ม โดยพื้นที่ที่ควรคำนึงถึงมีดังต่อไปนี้



ห้องนอน ควรอยู่ชั้นล่าง ใกล้ห้องน้ำเพื่อใช้งานได้สะดวก เพราะผู้สูงอายุมักจะเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนหลายรอบ และมักไม่ค่อยเปิดไฟ ระบบไฟส่องสว่างนำทางอัตโนมัติจึงช่วยลดโอกาสการเดินสะดุดหกล้มระหว่างทางไปเข้าห้องน้ำได้ ควรปูพื้นห้องด้วยผลิตภัณฑ์กรุพื้นผิวที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับแรงกระแทก ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงหากเกิดการหกล้ม


        ห้องน้ำ ควรแยกระหว่างส่วนเปียกกับส่วนแห้ง ไม่มีพื้นต่างระดับ พื้นผิวกระเบื้องไม่ลื่น มีค่าความฝืดเหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเดิน สำหรับพื้นที่เปียกควรติดราวจับเพื่อการประคองตัว ช่วยในการลุก นั่ง ควรมีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ ใช้ขณะแปรงฟันหรือแต่งตัว ควรเสริมอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือ หากเกิดการล้มและเหตุฉุกเฉินอื่นๆเพื่อให้คนในบ้านสามารถเข้ามาช่วยได้รวดเร็ว



 ห้องนั่งเล่น ไม่ควรตั้งเฟอร์นิเจอร์กีดขวางทางเดิน ควรใช้สีที่ตัดกับสภาพแวดล้อมภายนอก ติดราวจับประคองตัว เพื่อการใช้งานในแต่ละอิริยาบถ (เดิน ลุก นั่ง ขึ้นลงบันได) ใช้จับประคองตัวตลอดการเดินหรือเปลี่ยนท่าเพื่อ “ป้องกัน”การเสียการทรงตัว หรือใช้คว้าจับเมื่อเริ่มเสียหลัก



       เฟอร์นิเจอร์ เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีเหลี่ยมมุมน้อย หลีกเลี่ยงเฟอร์นิเจอร์ที่มีล้อเลื่อนเพราะอาจเป็นสาเหตุให้หกล้มได้ เตียงนอนรวมฟูกควรมีความสูงประมาณ 45-50 เซนติเมตร และไม่นิ่มไม่ยวบจนเกินไป เพื่อให้ลุกนั่งได้สะดวก

       ประตู ควรกว้างสุทธิอย่างน้อย 90 เซนติเมตร ปิดเปิดง่าย ไม่ติดตั้งอุปกรณ์บังคับให้ปิดเองเพื่อให้รถเข็นเข้าออกได้สะดวก หากเป็นประตูบานเปิดควรมีที่ว่างหน้าประตู 1.50x1.50 เมตร เพื่อให้รถเข็นเบี่ยงหลบบานประตูได้ สำหรับห้องน้ำควรใช้ประตูบานเลื่อน หากใช้ประตูบานเปิดควรติดตั้งให้เปิดออกนอกห้องน้ำเพราะหากมีคนล้มขวางประตูก็ยังสามารถเปิดประตูได้

       บันได ควรมีราวจับทั้งสองด้าน ใช้วัสดุปูที่ไม่ลื่น อาจทำสีที่จมูกบันไดให้มีความแตกต่างจากผิวบันไดอย่างชัดเจน หากผู้สูงอายุมีปัญหาทางการได้ยินและทางขึ้นบันไดเป็นมุมอับอาจติดกระจกเงาบริเวณผนังตรงข้ามทางขึ้นลงเพื่อป้องกันการเดินชนกับคนที่เลี้ยวมาขึ้นบันได



       มือจับและราวจับ สำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อาจไม่จำเป็นต้องติดล็อกประตูเผื่อยามฉุกเฉินจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทัน เลือกใช้มือจับแบบก้านโยกซึ่งจับสะดวกกว่ามือจับแบบลูกบิดโดยติดสูงระดับปกติคือ 1-1.20 เมตร และอาจติดราวจับใต้มือจับลงมาประมาณ 10-12 เซนติเมตรสำหรับคนที่นั่งรถเข็น ราวจับควรทำจากวัสดุผิวเรียบติดตั้งสูงจากพื้น 80-90 เซนติเมตร ควรติดตั้งในห้องน้ำ ใกล้เตียงนอนหรือจุดที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้แรงจับเพื่อพยุงตัวระหว่างทางเดิน และติดสวิตซ์สัญญาณฉุกเฉินบริเวณเตียงนอน ห้องน้ำ ในระดับที่มือเอื้อมถึงได้ง่าย



       ระเบียงและทางเดินรอบบ้าน เลือกใช้พื้นผิวที่มีคุณสมบัติดูดซับแรงกระแทก หากเกิดการล้มหรืออุบัติเหตุก็จะสามารถบรรเทาปัญหาจากการล้มรุนแรงได้

       ทางเดิน ทางลาดและพื้น พื้นในบ้านควรเรียบเสมอกันและเข้าถึงได้ ไม่ยกพื้นต่างระดับหรือมีธรณีประตู วัสดุกรุพื้นผิวต้องไม่เรียบลื่นจนเกินไป บริเวณทางเดินควรมีแสงสว่างเพียงพอต่อการมองเห็น และติดตั้งไฟเพิ่มในจุดที่มีการเปลี่ยนระดับ บางจุดอาจติดตั้งราวจับช่วยพยุงตัว หากผู้สูงอายุใช้รถเข็นควรมีทางลาดให้ขึ้นลงได้สะดวก (อัตราส่วนอย่างน้อยไม่เกิน 1:12 คือ พื้นสูง 1 เมตร ทางลาดยาว 12 เมตร)

       ที่จอดรถ สำหรับบ้านที่มีผู้ใช้รถเข็นที่จอดรถควรกว้างอย่างน้อย 2.40 x 6 เมตร และมีที่ว่างข้างที่จอดรถอย่างน้อย 1 เมตรสำหรับรถเข็น



       นอกจากนี้ ยังมีทิปส์เล็กๆ สำหรับการดูแลสุขภาพกาย-ใจให้แข็งแรง สดชื่น กับวิธีง่ายๆ มาให้ได้ลองปรับใช้ในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ซึ่งได้แก่

       - กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควรให้ผู้สูงอายุกินผัก ผลไม้ (ที่รสชาติไม่หวานจัด) โปรตีนจากเนื้อปลาเพราะเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีไขมันดีช่วยบำรุงสมอง กินแคลเซียมธรรมชาติจากปลาเล็กปลาน้อย ธัญพืชจำพวก งาดำเพื่อบำรุงกระดูก

       - ออกกำลังกายด้วยการเดินหรือว่ายน้ำ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อส่วนขาให้แข็งแรงจะช่วยป้องกันการหกล้มได้ แนะนำให้ออกกำลังกายในช่วงเช้าเพื่อรับแดดอ่อนๆ ซึ่งร่างกายจะนำไปสร้างวิตามินดี ช่วยบำรุงกระดูก

       - นอนหลับให้เพียงพอ ควรให้ผู้สูงอายุเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา โดยการนอนตั้งแต่หัวค่ำและตื่นเช้าเพื่อรับแดดอ่อน ซึ่งจะช่วยให้วงจรการรับรู้กลางวัน กลางคืน (Circadian Rhythms) ทำงานเป็นปกติ และช่วยให้ท่านอารมณ์เบิกบานตลอดทั้งวัน

       - ดูแลจิตใจให้แข็งแรง ผู้สูงอายุควรมองโลกในแง่บวก ปล่อยวางความกังวล ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ นอกจากได้ความสุขแล้วยังทำให้รู้ถึงคุณค่าของตัวเองที่มีต่อสังคมและผู้อื่นอีกด้วย

       ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการดำรงชีวิตในบั้นปลายให้สะดวก สบาย และปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกำลังใจและความรักความอาทรจากสมาชิกในครอบครัวที่ต้องหมั่นเติมเต็มให้กับผู้สูงอายุไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปในทุกๆ วัน ได้อย่างมีความสุข

แท็กที่เกี่ยวข้อง