23.9K
10 พฤษภาคม 2567
Q: ใยแก้ว (Fiberglass) อันตรายหรือไม่?
A: ก่อนจะพูดถึงว่าใยแก้วเป็นอันตรายหรือไม่ ควรทำความเข้าใจก่อนว่าวัสดุ “ใยแก้ว” เกิดจากการหลอมละลายและแข็งตัวของซิลิกาซึ่งเป็นวัตถุดิบจากแก้ว นิยมใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ทำฉนวนป้องกันความร้อนหรือฉนวนไฟฟ้า ใช้เสริมแรงวัสดุประเภทพลาสติกให้มีความเหนียว ไม่เปราะหักง่าย เป็นต้น
หลายท่านรู้สึกไม่ไว้วางใจในวัสดุใยแก้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ “ฉนวนใยแก้วกันความร้อน” ซึ่งเป็นของใกล้ตัวที่ใช้ทั่วไปตามอาคารบ้านเรือน ด้วยสภาพเส้นใยเกาะกลุ่มกันเป็นจำนวนมากดูน่ากลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อผิวหนัง และเกรงว่าจะทำให้เกิดโรคมะเร็งด้วย ทั้งนี้ เรื่องของฉนวนใยแก้วที่เกี่ยวข้องกับกับมะเร็ง มักเกิดจากความเข้าใจผิดว่า ฉนวนใยแก้วเป็นวัสดุอันตรายเช่นเดียวกับใยหิน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว วัสดุใยหินประกอบขึ้นจากเส้นใยที่มีโครงสร้างเป็นรูปดาวและมีขนาดเล็กกว่า 3 ไมครอน ซึ่งเป็นขนาดที่มนุษย์สามารถสูดเข้าไปในปอดได้ ใยหินจึงถูกจัดเป็นวัสดุอันตรายที่เป็นสารก่อมะเร็ง
แต่สำหรับฉนวนใยแก้ว จะมีลักษณะโครงสร้างเป็นท่อนทรงกระบอกที่มีขนาดประมาณ 7 ไมครอน ซึ่งใหญ่เกินกว่าจะเข้าไปในถุงลมปอด นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ฉนวนใยแก้วในท้องตลาด ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งได้จัดให้ใยแก้วอยู่ในกลุ่ม “วัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง” เป็นต้น ดังนั้นฉนวนใยแก้วจึงเป็นมิตรต่อสุขภาพและยังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในยุโรป อเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ การใช้ฉนวนใยแก้วยังมีข้อดีเรื่องความปลอดภัยอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นวัสดุที่ไม่ลามไฟ จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน ทั้งในอาคารทั่วไปและที่พักอาศัย
โดยทั่วไปวัสดุใยแก้วมักจะใช้ควบคู่กับวัสดุอื่นๆ เช่น ใช้ตัวประสานช่วยยึดใยฉนวนให้ติดกัน ใช้ใยแก้วเสริมกับพลาสติกเพื่อให้มีความยืดหยุ่น ไม่เปราะ เป็นต้น บางครั้งเมื่อผสมกันแล้วก็ถูกเรียกรวมว่าเป็น “ไฟเบอร์กลาส” (คำแปลตรงตัวของ “ใยแก้ว”) และบางทีวัสดุที่นำมาผสมกับใยแก้วเป็นวัสดุที่ก่อให้เกิดอันตราย หรือให้ความรู้สึกอันตราย เช่น มีกลิ่นเหม็น ก่อให้เกิดอาการแพ้ เหตุผลเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนเข้าใจว่าใยแก้วเป็นวัสดุที่อันตราย
อย่างไรก็ตาม วัสดุใยแก้วเองก็มีโอกาสทำให้ผิวหนังคันระคายเคืองได้บ้าง โดยเฉพาะคนที่มีอาการแพ้วัสดุประเภทเส้นใยควรเลี่ยงการสัมผัสใยแก้วโดยตรง เช่น เลือกใช้ฉนวนกันความร้อนใยแก้วที่มีฟอยล์หุ้ม หรือหากต้องทำงานกับวัสดุใยแก้วโดยตรงก็ควรแต่งกายมิดชิดและใส่ผ้าปิดจมูก ซึ่งในปัจจุบันนี้ ฉนวนใยแก้วส่วนใหญ่จะถูกห่อหุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์จนมิดชิด จึงไม่มีการก่อความระคายเคืองแก่ผู้บริโภคอีกต่อไป
อีกประเด็นซึ่งเกี่ยวข้องกับความอันตรายของวัสดุ คือ คุณสมบัติเรื่องการลามไฟ ฉนวนกันความร้อนและกันเสียงบางประเภท ซึ่งทำจากวัสดุพลาสติกประเภทต่างๆ (Poly) เมื่อโดนเปลวไฟจะติดไฟและลุกลามอย่างรวดเร็ว บางชนิดหยดเป็นลูกไฟ บางชนิดก่อให้เกิดควันพิษ ในขณะที่ฉนวนใยแก้ว มีคุณสมบัติเพียงแค่ติดไฟแต่ไม่ลามไฟเท่านั้น (เห็นได้จากวีดีโอทดสอบด้านล่าง) จึงถือได้ว่าเป็นอันตรายน้อยกว่าฉนวนอีกหลายประเภท
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.smartimagegroup.com
web.en.rmutt.ac.th