10.7K
11 พฤษภาคม 2567
"การรีโนเวทห้องนอนผู้สูงอายุ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อลดอันตรายและอำนวยความสะดวกในการใช้งานนั้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมด้านกายภาพแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงความสำคัญของตนเองด้วย"
ผู้สูงอายุมักมีสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง ทั้งด้านพละกำลัง ประสาทสัมผัสทางตาและหู รวมถึงขยับร่างกายและทรงตัวลำบากขึ้น ทำให้เกิดพลัดตกหกล้มง่ายแต่ฟื้นตัวยากมาก ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านในด้านกายภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุเองก็ต้องการสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่พึ่งตัวเองได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน มีพื้นที่ส่วนตัวที่จัดสรรอย่างเหมาะสมให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงความสำคัญของตน ดังนั้น การรีโนเวทห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ นับเป็นอีกทางช่วยที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ได้
การรีโนเวทห้องนอนผู้สูงอายุ อาจเริ่มต้นด้วยการกำหนดตำแหน่งและขนาดห้องที่เหมาะสม ห้องนอนผู้สูงอายุควรเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้องขึ้นลงบันไดมาก อยู่ใกล้ห้องน้ำหรือมีห้องน้ำในตัว มีพื้นที่กว้างขวางพอสำหรับพักผ่อนและทำงานอดิเรก เจ้าของบ้านอาจเลือกห้องที่มีตำแหน่งเหมาะสมที่สุดมารีโนเวทเป็นห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ หากพื้นที่แคบไปอาจรื้อผนังเดิมออก แล้วสร้างผนังเบาตำแหน่งใหม่เพื่อขยายให้ห้องกว้างขึ้น แนะนำขนาดพื้นที่ประมาณ 10-12 ตร.ม. ต่อคน และ 16-20 ตร.ม. สำหรับห้องพักรวม 2 คน
ภาพ: ห้องนอนผู้สูงวัยแบบมีห้องน้ำในตัว
ภาพ: มุมอ่านหนังสือในห้องนอนผู้สูงวัย พร้อมราวจับทรงตัวทางด้านซ้าย
สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ Wheelchair ควรคำนึงเรื่องพื้นที่ให้หมุนกลับตัวได้ (ระยะเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 1.5 เมตร) และขนาดประตูที่กว้างพอ (90 ซม. ขึ้นไป) หากต้องสกัดผนังเพื่อขยายหรือเพิ่มประตู กรณีผนังเดิมเป็นปูนควรระมัดระวังแนวท่อหรือสายไฟที่อาจซ่อนอยู่ หลีกเลี่ยงการสกัดโดนเสาเอ็นคานเอ็นเดิม และควรเผื่อระยะสกัดให้กว้างกว่าขนาดประตูเพื่อหล่อเสา-คานเอ็นรอบประตู ส่วนกรณีที่เป็นผนังโครงเบาควรเจาะช่องประตูให้อยู่ในแนวโครงคร่าว หลังจากรื้อวัสดุออกแล้วให้เสริมโครงคร่าวตามความเหมาะสม (โดยเฉพาะโครงคร่าวแนวนอนตรงด้านบนของประตู) จากนั้นใข้แผ่นผนังชนิดเดียวกันปิดทับคร่าวให้เรียบร้อย ก่อนจะติดตั้งประตูใหม่
ภาพ: การขยับผนังห้อง เพื่อเพิ่มระยะให้รถ Wheelchair กลับตัวได้
ปัจจัยถัดไปของการรีโนเวทห้องนอนผู้สูงอายุคือ การอำนวยความสะดวกเรื่องการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นการใช้โทนสีของแต่ละองค์ประกอบที่ดูตัดกัน มองเห็นง่ายแต่สบายตา มีหน้าต่างในขนาดและระดับที่เหมาะสมให้มองเห็นวิวด้านนอกชัดเจนและรับแสงธรรมชาติได้ (หากต้องการเพิ่มหรือขยายหน้าต่างให้ใช้หลักการเดียวกับการขยายประตู) มีระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ให้ความสว่างมากพอทั่วถึงทุกตำแหน่งและทุกเวลา สภาพแสงนวลสบายตาไม่จ้าเกินไป อาจติดตั้งไฟอัตโนมัติพร้อมเซ็นเซอร์ เพิ่มช่วยนำทางให้ผู้สูงอายุลุกเดินไปห้องน้ำในเวลากลางคืนได้สะดวก
ภาพ: ระบบไฟส่องสว่างอัตโนมัติ (Automatic Night Light System) ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงวัยเมื่อลุกขึ้นจากเตียงยามค่ำคืน
การปรับปรุงเรื่องไฟฟ้าแสงสว่าง ควรคำนึงถึงตำแหน่งสวิตช์ไฟที่ใช้งานสะดวกควบคู่ไปด้วย เช่น เพิ่มสวิตช์ 2 ทางให้เปิด-ปิดไฟได้ทั้งจากบริเวณหัวเตียงและประตูห้อง ติดตั้งสวิตช์ไฟในตำแหน่งที่ผู้สูงอายุบน Wheelchair เอื้อมถึงได้ง่าย (แนะนำที่ระยะสูงจากพื้น 120 ซม.) เป็นต้น รวมถึงวางผังการเดินสายไฟให้เรียบร้อย โดยอาจซ่อนไว้ในผนังเบากับบริเวณเหนือฝ้าเพดาน หลีกเลี่ยงการเดินสายไฟบนพื้นในจุดที่เสี่ยงต่อการสะดุดล้ม
สำหรับปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรีโนเวทห้องนอนผู้สูงอายุคือ การป้องกันและลดอันตรายจากการพลัดตกหกล้ม อย่างการติดตั้งราวจับทรงตัวในจุดที่เหมาะสม ปรับปรุงพื้นให้ปลอดภัย ด้วยวิธีต่างๆ พยายามใช้พื้นระดับเดียวหรือทำทางลาดเพื่อลดความเสี่ยงที่จะสะดุดหกล้ม และอำนวยความสะดวกต่อการใช้ Wheelchair (สำหรับผู้สูงอายุที่ยังพอใช้พื้นต่างระดับได้ ควรให้ระดับพื้นต่างกันไม่เกิน 10 ซม.) กรณีต้องการปรับพื้นส่วนที่ต่ำกว่าให้สูงเท่าระดับข้างเคียง หากเพิ่มระดับไม่เกิน 5 ซม. สามารถเทปูนปรับระดับได้ แต่หากเพิ่มระดับ 10-15 ซม. การเทปูนอาจเพิ่มน้ำหนักมากเกินไป แนะนำให้ใช้อิฐมวลเบาวางก่อนเทปูนปรับระดับ หรือเลือกใช้ระบบพื้นเบาโดยติดตั้งตงบนพื้นเดิมแล้วปูทับด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์
ภาพ: รางน้ำทิ้งสเตนเลสกันกลิ่น ติดตั้งตรงรอยต่อระหว่างพื้นห้องน้ำและห้องนอน ทดแทนการทำพื้นต่างระดับ
การเลือกวัสดุปูพื้นที่เหมาะสม เป็นอีกทางที่ช่วยป้องกันและลดอันตรายจากการพลัดตกหกล้มได้ วัสดุปูพื้นที่เหมาะกับผู้สูงอายุควรมีพื้นผิวฝืด ไม่ลื่น และไม่แข็งกระด้างเกินไป ทั้งนี้ เจ้าของบ้านอาจเลือกใช้วัสดุปูพื้นเพื่อบรรเทาอันตรายโดยเฉพาะ ยกตัวอย่าง แผ่นไวนิลลดแรงกระแทก ที่มีวัสดุโฟมช่วยดูดซับและลดแรงกระแทกหากพลาดหกล้ม ซึ่งสามารถปูทับบนพื้นปูน รวมถึงระบบพื้นปูบนตงอย่างแผ่นพื้นซีเมนต์บอร์ดและพื้นไม้ (พื้นไม้ที่ปูบนตงควรอยู่ในสภาพดี หากผุมากหรือโดนปลวกกัดกินควรรื้อทิ้งแล้วติดตั้งแผ่นพื้นซีเมนต์บอร์ดแทน)
และเนื่องจากผู้สูงอายุมักเคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่คล่องเท่าวัยหนุ่มสาว ดังนั้น ความถนัดในการใช้งานเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ต่างๆ จึงเป็นอีกเรื่องสำคัญในการรีโนเวทห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ผู้สูงอายุใช้งานได้สะดวกปลอดภัย แข็งแรงมั่นคงไม่เลื่อนไหลง่าย มีพนักพิงพร้อมเท้าแขนช่วยพยุง รวมไปถึงการเลือกตำแหน่งติดตั้งและลักษณะของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยให้ใช้งานง่าย ไม่ต้องเอี้ยวตัวหรือบิดข้อต่อเยอะ เช่น มือจับประตูแบบก้านโยกจะจับได้ถนัดกว่าแบบลูกบิด ส่วนผู้สูงอายุที่ใช้ Wheelchair อาจใช้ประตูบานเลื่อนได้สะดวกกว่าแบบบานเปิดเข้าออก เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านด้วยการรีโนเวทห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุนั้น มีเรื่องควรคำนึงหลายอย่างตั้งแต่ที่ตั้งที่เข้าถึงง่าย ขนาดพื้นที่ใหญ่เพียงพอ การใช้สีตัดกันและแสงสว่างช่วยในเรื่องการมองเห็น เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งานสะดวกช่วยลดอันตราย รวมถึงลักษณะพื้นที่ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุ ทั้งนี้ หากมีการใช้วัสดุที่ทำให้น้ำหนักของระบบพื้นผนังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงพื้นเพื่อเพิ่มระดับให้เสมอกัน ควรปรึกษาวิศวกรเพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่าน้ำหนักของวัสดุที่เพิ่มจะไม่เกินขีดจำกัดการรับน้ำหนักของโครงสร้างเดิม
ภาพ: พื้นปูด้วยแผ่นไวนิลลดแรงกระแทก (Shock Absorption Floor)