Full House เมื่อสถาปัตยกรรม รวมความสัมพันธ์ของบริบท ‘ผู้อยู่อาศัย’ และ ‘วัสดุ’
ไอเดียแต่งบ้าน

Full House เมื่อสถาปัตยกรรม รวมความสัมพันธ์ของบริบท ‘ผู้อยู่อาศัย’ และ ‘วัสดุ’

1.6K

27 พฤษภาคม 2567

Full-House เมื่อสถาปัตยกรรมรวมความสัมพันธ์ของบริบทผู้อยู่อาศัยและวัสดุ

        เมื่อสมาชิกทั้ง 9 ท่าน 3 เจนเนอเรชัน 2 ครอบครัวต้องมาอยู่อาศัยร่วมกันภายในขอบเขตของที่ดินเพียง 106 ตารางวา ที่รายล้อมไปด้วยถนนทั้ง 3 ด้าน ต้องเผชิญกับกฏหมายระยะร่นอาคารที่บีบบังคับให้ขนาดพื้นที่ใช้สอยมีน้อยลง พื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัวจึงกลายเป็นโจทย์สำคัญที่คุณ วิน -ธาวิน หาญบุญเศรษฐ สถาปนิกจาก WARchitect เข้ามารับหน้าที่รังสรรค์สเปซให้เป็นเรื่องราวของ Full-House บ้านหลังใหม่ ของครอบครัวใหญ่ทั้ง 9 ท่าน ให้กลายเป็นศูนย์กลางของครอบครัว

        Full-House เริ่มต้นขึ้นจากการสร้างบ้านเต็มพื้นที่ดินสอดคล้องกับชื่อของบ้านเพื่อความต้องการของสมาชิกถึง 9 ท่าน โดยคุณวินเล่าว่า “โจทย์แรกที่เราคิด คือทำอย่างไร ให้คนทั้ง 9 คนสามารถอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ได้ ซึ่งความท้าทาย คือในสมาชิกทั้ง 9 ท่านจะถูกแบ่งเป็น 2 ครอบครัว 3 เจนเนอเรชัน นั่นก็คือ ครอบครัวของคุณปู่คุณย่า และครอบครัว ของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งกำลังมีลูกเล็ก ทั้งสองครอบครัวกึ่งๆ แยกออกมาแต่ยังคงอยู่อาศัยร่วมกันอยู่ชิดกัน มองจากข้างนอกต้องรู้สึกว่าเป็นบ้านหลังเดียวกัน”

เริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัย สู่ฟังก์ชันภายใน

        หากเคยเห็นผลงานต่างๆ ของ WARchitect ส่วนใหญ่เราจะคุ้นตากับอาคารแนวดิบ เท่ ลอฟท์ แต่สำหรับบ้านหลังนี้รูปลักษณ์กลับแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยความที่มีหัวใจสำคัญของบ้าน เป็นสมาชิกตัวน้อยทั้ง 2 คนที่เชื่อมโยงสองครอบครัวใหญ่เข้าไว้ด้วยกันภาพรวมในการออกแบบ สถาปัตยกรรมทั้งหมดจึงเน้นไปทางโคซี่ อบอุ่น มีความอ่อนโยนและปลอดภัยกับเด็กเสียมากกว่า สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ในใจที่ทางเจ้าของและสถาปนิกตั้งไว้ ไปพร้อมๆ กับการออกแบบฟังก์ชันภายใน เพื่อสมาชิกทั้ง 9 คน

“ตอนแรกเลยเราไม่ได้คิดถึงการหารูปฟอร์ม มันมีความสำคัญก็จริง แต่มันอาจจะเป็นสิ่งที่ตามมาทีหลัง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้สมาชิกทั้ง 9 มีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอในพื้นที่จำกัด”

        ซึ่งเมื่อได้ลองออกแบบ พื้นที่ใช้สอยภายในและขึ้นฟอร์มของอาคาร ทางสถาปนิกก็พบว่าอาคารในฝั่งของคุณปู่คุณย่าจะกลายเป็น ตึกสามชั้นที่คล้ายกับทาวน์เฮาส์หรือตึกแถว ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งมีที่ดินมากกว่าแต่กลับมีจำนวนสมาชิกน้อยกว่า ทำให้อาคารมีสามชั้นบ้าง สองชั้นบ้างปะปนกันไป แต่เพื่อให้บ้าน 2-3 ชั้นที่กระจัดกระจายดูภายนอกแล้ว อยู่ใต้หลังคาเป็นบ้านหลังเดียวกัน สถาปนิกจึงต้องมองหาภาษาทางสถาปัตยกรรมบางอย่างที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง ซึ่งในที่นี้คือ หลังคาจั่วทั้ง 4 ก้อน ที่รับหน้าที่ลดทอนสัดส่วนสูงชะลูดของอาคาร ลดความเป็นตึกแถว โดยจั่วทั้ง 4 จะมีระดับที่แตกต่างกัน

“พอมันมีสูง มีกลาง มีต่ำ ผมรู้สึกว่ามันเหมือนบ้านตุ๊กตาของน้องๆ หลานๆ ที่อยู่ในบ้านหลังนี้ และมันก็ช่วยทอนสเกลของความเป็นตึก ช่วยให้รู้สึกถึงความเป็นบ้านได้ดี” คุณวินเล่าเสริม

        ถึงแม้ภายนอกอาคารจะถูกร้อยเรียงรวมกันด้วยหลังคาจั่ว แต่สำหรับฟังก์ชันภายในบ้าน ถูกแบ่งออกเป็นสองหลังอย่างชัดเจน โดยที่จอดรถถูกออกแบบเป็น 2 พื้นที่ ฝั่งหนึ่งเข้าถึงได้จากทิศเหนือ ส่วนอีกฝั่งเข้าถึงผ่านทางทิศตะวันตก ก่อนจะนำทางเข้าสู่ฟังก์ชันหลักส่วนอื่นๆของบ้านที่แต่ละหลังจะมีพื้นที่เป็นส่วนตัว ห้องนั่งเล่น รับประทานอาหาร หรือแม้แต่ส่วนซักล้าง ซึ่งทั้งสองครอบครัวสามารถอยู่บ้านคนละหลังได้โดยไม่จำเป็น ต้องใช้พื้นที่อะไรร่วมกันเลย เว้นเพียงแต่ ครัวไทย ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนมาทำอาหารรับประทานร่วมกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกันโดยเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เชื่อมความสัมพันธ์ของบ้านทั้งหลังเอาไว้

ภาพ : ห้องนั่งเล่นสองห้องที่แยกส่วนกันอย่างชัดเจน

        ทางสัญจรขึ้นสู่ชั้นสองจะถูกแยกส่วนเป็นบ้านแต่ละหลังอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน ซึ่งการใช้งานชั้นสองจะเป็นส่วนห้องนอนทั้งหมด ในขณะที่ชั้นบนสุดถูกออกแบบให้เป็นห้องนอนในอนาคตของหลานๆ

“ผมมองว่า บ้านหลังนี้ ช่วงระยะเวลาในการอยู่อาศัยมันยาวมาก วันนึงหลานๆ ก็จะต้องโตขึ้นไปเรื่อยๆ บ้านหลังนี้อาจจะกลายเป็นของเขา ซึ่งเขาก็อาจจะยังอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ก็ยังมีความเป็นส่วนตัว มันก็เหมาะกับการอยู่อาศัย”

การใช้งานของผู้อยู่อาศัยที่ต้องไปในทิศทางเดียวกับวัสดุ

        นอกจากฟังก์ชันบ้านที่ต้องตามใจผู้อยู่อาศัยวัสดุที่ต้องสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดก็ต้องตรงตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย เช่นกัน และสำหรับบ้าน Full house หลังนี้ ทางเจ้าของเองมีโจทย์ว่าอยากใช้ไม้สีอ่อน เติมแต่งให้บ้านคุมโทนสีสว่าง เนื่องจากมีสมาชิกของบ้านเป็นทั้งวัยชรา และวัยเด็ก อีกทั้งยังต้องการให้ภาพรวมวัสดุทำความสะอาดง่าย และไม่มีฝุ่น ในการออกแบบสถาปนิกจึงเน้นใช้วัสดุที่เรียบง่าย หรือทาสีอาคารธรรมดาเพื่อให้ได้พื้นผิวที่เรียบ และกักเก็บฝุ่นได้น้อยที่สุด

บริบทเฉพาะตัว กับแนวคิดวัสดุเฉพาะทาง

        เนื่องจากทำเลที่ตั้ง รายล้อมไปด้วยถนนและที่อยู่อาศัยในเขตชุมชน ที่มีผู้คนมากหน้าหลายตา สัญจรเข้าออกไปมาอยู่เป็นกิจวัตร ประกอบกับทิศทางของแดด ทำให้สถาปนิกเลือกหันทิศทางของตัวบ้าน ไปทางทิศเหนือเพื่อหลีกหนีความวุ่นวายและความร้อน ส่วนด้านตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นด้านข้างของตัวบ้านจะถูกออกแบบให้ไร้ซึ่งช่องเปิด เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวในการอยู่อาศัย

        เมื่อข้อจำกัดของบริบทผสานเข้ากับความต้องการบ้าน ที่เรียบง่ายจากทางเจ้าของ ทำให้ภาพรวมของบ้านหลังนี้เรียบนิ่ง และมินิมอลจนดูเหมือนขาดรายละเอียดบางอย่างไป “ภายในบ้านมันเรียบไปหมดแล้ว ส่วนรั้วมันก็ทึบ และมันลากยาว ทำให้ซอยมันแคบ ดูตัน ทำให้บ้านรู้สึกไม่ค่อยน่าอยู่ ซึ่งเมื่อก่อนที่ดินตรงนี้มันเคยเป็นที่ดินโล่งมานาน มีต้นไม้ขึ้น กลายเป็นสวนส่วนกลางของชาวบ้านแถวนั้น ก็เลยเสนอเจ้าของบ้านว่า เราอาจลงทุนเพิ่มอะไรกับการเลือกใช้วัสดุผนังข้างนอกหน่อย เพื่อให้บ้านหลังนี้มันเหมือนเป็นล๊อบบี้ของชุมชน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ซอยนี้ดูดีขึ้นด้วย”

        เพื่อสร้างเรื่องราวให้สถาปัตยกรรมน่าสนใจยิ่งขึ้น บริเวณรั้วทึบภายนอกอาคาร สถาปนิกจึงเลือกใช้ไฟเบอร์ซีเมนต์ เอสซีจี Trim บัวผนังจากแบรนด์ เอสซีจีมาตกแต่งโดยติดตั้งหันด้านเว้าออกสู่ถนน ด้วยลักษณะของวัสดุที่เป็นซี่ระแนงจึงสามารถติดตั้งให้โค้งไปตามผนังรั้วได้อย่างง่ายดาย และเมื่อถึงเวลาที่แสงแดดตกกระทบผนัง บัวผนังที่สร้างเท็กเจอร์นูนต่ำจะทำให้แสงเงาเปลี่ยนไป เกิดความเคลื่อนไหวในแต่ละช่วงเวลา ที่สร้างความน่าสนใจและความสวยงามให้กับสถาปัตยกรรมได้ไม่น้อย

        เช่นเดียวกับ ซุ้มประตูจั่วบริเวณทางเข้าหลักของบ้าน เพื่อสร้างความแตกต่างให้ภาพรวมของสถาปัตยกรรมดูโดดเด่นและไม่กลืนกันไปเสียหมด สถาปนิกจึงเติมความน่าสนใจ ด้วย เอสซีจี Modeena ไม้ตกแต่งผนังสีน้ำตาลธรรมชาติที่ช่วยสร้างพื้นผิว ลดทอนสเกลของบานประตูไม่ให้ดูใหญ่โต เทอะทะจนห่างไกลความเป็นบ้านไป

        “พูดถึงการตกแต่งผนังภายนอก สมมติว่าเรามีผนังอยู่ระนาบหนึ่ง เราจะใช้วัสดุอะไรดี?  ถ้าเรามีงบประมาณหลักร้อยปลายๆ ถึงหลักพันต้นๆ ผมว่าตัวเลือกอาจจะเหลือไม่เยอะ อาจจะเป็นสีพ่น หรือติดกระเบื้อง แต่มันก็จะเป็นการตกแต่งไปที่ผิวโดยตรงเกิดเป็นลวดลายแต่ไม่สามารถสร้างเท็กเจอร์หรือฟอร์มของผนังที่มีความนูนต่ำได้ ไฟเบอร์ซีเมนต์ก็เป็นกลุ่มวัสดุที่มาตอบโจทย์งานดีไซน์ตรงนี้ อีกทั้งราคาไม่แพง ติดตั้งง่าย และยังทำสีได้ง่าย เหมือนการทำสีผนังทั่วๆไป” สถาปนิกเล่า

Materials Tips

        คุณวินยังแอบแชร์เทคนิคเล็กๆ ให้เราฟังว่า กลุ่มวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ หากติดตั้งบนโครงเหล็ก จะให้ความแข็งแรงปลอดภัยมากกว่า แต่ต้องมีการวัดระยะของตงเหล็กให้มีความถี่มากพอ หรือหากจะติดตั้งกับผนังโดยตรงก็ทำได้เช่นกัน แต่ผนังเหล่านั้นต้องได้ระนาบมากพอสมควร ส่วนการใช้งานวัสดุที่มีลักษณะเป็นร่อง มีความหยาบ หรือเป็นซี่ระแนง แน่นอนว่าอาจจะมีฝุ่นเกาะได้ง่าย แต่การเลือกใช้งานในแนวตั้ง จะช่วยให้ฝุ่นเกาะได้ยากขึ้นและยังสามารถฉีดน้ำ ชำระล้างได้ง่ายกว่า

        “ทำบ้านหลังนี้ เหมือนเราได้ผูกพันกับทางเจ้าของบ้านไปด้วย ลูกของเขาก็เหมือนหลานของเรา เราก็อยากให้เขาได้บ้านที่ดีในการอยู่อาศัยต่อในอนาคต รวมถึงเรื่องวัสดุ ถ้าเรามองว่าวัสดุสวยวันนี้ แต่ปีหน้าเสียหาย แสดงว่าเราไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้า การเลือกวัสดุ ผมว่าสำคัญมากๆ วัสดุที่ดี หรือมีโปรไฟล์ตรงกับที่เราต้องการ ก็จะช่วยส่งเสริมงานสถาปัตยกรรมที่เราออกแบบให้มันดีหรือสวยยิ่งขึ้น” คุณวินเล่าทิ้งท้าย

        ในขณะที่เด็กน้อยทั้งสองทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ของครอบครัว วัสดุ บริบทและผู้อยู่อาศัยก็ทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมไม่ต่างกัน สถาปัตยกรรมที่ดีจึงต้องใส่ใจทั้งผู้อยู่อาศัย บริบทที่รายล้อม หรือแม้แต่วัสดุเอง สามปัจจัยเหล่านี้จึงกลายเป็นสายใยแน่นแฟ้น ที่หากขาดใครคนใดคนหนึ่งสถาปัตยกรรมชิ้นนั้นก็คงจะสมบูรณ์ไปไม่ได้ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของบริบท ผู้อยู่อาศัย และวัสดุภายในบ้าน Full-House หลังนี้

Location: เสนานิคม บางเขน กรุงเทพฯ
Built Area: 730 ตารางเมตร
Architect: WARchitect
Photo Credits (เพิ่มเติม) : Rungkit Charoenwat

สำหรับสถาปนิกที่สนใจสอบถามข้อมูลวัสดุ SCG D'COR เพิ่มเติม หรือขอไฟล์ 3D Model : คลิกที่นี่
ข้อมูลสินค้า SCG D'COR : คลิกที่นี่
ข้อมูล SCG D'COR Facade Solution : คลิกที่นี่